
เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.82/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลัง กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามคาด 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.50% โดยให้มีผลทันที เชื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 25 มกราคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/1) ที่ระดับ 32.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (24/1) ที่ระดับ 32.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
- ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ตรวจผลรางวัล งวด 1 เม.ย. 66 (อัพเดต)
- 12 นิสิตเก่า ‘สิงห์ดำ’ ดีเด่น ปี 66 ความภาคภูมิใจ ‘รัฐศาสตร์ จุฬาฯ’ สถาบันผลิตบุคลากรชั้นนำของประเทศ
- Café Amazon เฉลยเอง ไวรัลนกหน้าร้านสะดวกซื้อ กำลังจะเกิดอะไรขึ้น?
ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวภายหลังเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 46.6 ในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 45.0 ในเดือน ธ.ค. อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว โดยหดตัวเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ดัชนี PMI ถูกกดดันจากคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่การจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แม้ว่าความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจดีดตัวแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 46.8 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 46.2 ในเดือน ธ.ค. ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 46.6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 44.7 ในเดือน ธ.ค.
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันนี้ (25/1) โดยผลการประชุมมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.50% โดยให้มีผลทันที โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ช่วยสนับสนุนการจ้างงานและการกระจายรายได้ของลูกจ้างในภาคบริการและผู้ประกอบการอาชีพอิสระที่มีจำนวนมาก
การส่งออกสินค้าชะลอตัวในปีนี้ แต่จะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปี 2567 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นและคาดว่าผ่านจุดต่ำสุดในปี 2566 ก่อนจะปรับดีขึ้นในปีหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงด้านต่ำลดลง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักรวมถึงจีนที่ปรับดีขึ้น
โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.76-32.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.82/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/1) ที่ระดับ 1.0889/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (24/1) ที่ระดับ 1.0856/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ผลสำรวจขั้นต้นจากเอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า กิจกรรมธุรกิจของยูโรโซนพลิกสู่การขยายตัวเล็กน้อยแบบไม่คาดหมายในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจขาลงของยูโรโซนอาจไม่รุนแรงอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ และยูโรโซนอาจหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้นของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.2 ในเดือน ม.ค. จาก 49.3 ในเดือน ธ.ค. ทั้งนี้ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการเดือน ม.ค.ของยูโรโซนอยู่เหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ 49.8 โดยดัชนีที่อยู่สูงกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว
ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0878-1.0907 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0883/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/1) ที่ระดับ 130.26/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (24/1) ที่ระดับ 130.24/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนวิ่งอยู่ในกรอบ หลังไร้ปัจจัยใหม่ ๆ เพิ่มเติม โดยตลาดรอดูการเสนอชื่อผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คนใหม่ในเดือนหน้า ซึ่ง BOJ จะเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ คนปัจจุบันหรือไม่
ประกอบกับนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจไม่คุมเข้มนโยบายการเงินที่เพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 129.80-130.56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 129.84/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณาก PCE/Core Price Indices เดือนธันวาคม (26/1), จีดีพีไตรมาส 4/2565 (26/1), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (26/1) และยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนธันวาคม (26/1)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.60/10.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -13.30/-7.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ