เก็งเฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ย กดดันดอลลาร์อ่อนค่า

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

เก็งเฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ย กดดันดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า นักลงทุนคาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. ขณะที่ปัจจัยในประเทศ Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับ Pre-COVID แล้ว

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/1) ที่ระดับ 32.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (25/1) ที่ระดับ 32.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ โดยยังคงถูกกดดันจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ขณะเดียวกันนักลงทุนรอดูการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2565 ของสหรัฐในวันนี้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ (Krungthai COMPASS ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดี และอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมาย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับ Pre-COVID แล้ว และคาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง จากรแรงขับเคลื่อนของภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดี

ทั้งนี้ กนง.คาดจำนวนนักท่อเที่ยวต่างชาติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 25.5 ล้านคนในปีนี้ (จากเดิมคาดไว้ที่ 22 ล้านคน) ตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง และจะช่วยให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดีขึ้น

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรกจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ทรงตัวในระดับสูง มีความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นได้จากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ ท่ามกลางภาวะต้นทุนที่สูงรอบด้าน โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.61-32.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.68/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/1) ที่ระดับ 1.0921/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (25/1) ที่ระดับ 1.0915/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อคืนนี้ Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 90.2 ในเดือน ม.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 88.6 ในเดือน ธ.ค.

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0906-1.0929 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0916/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/1) ที่ระดับ 129.26/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (25/1) ที่ระดับ 129.59/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานสรุปมุมมองเศรษฐกิจ (Summary of Opinions) จากการประชุมประจำเดือน ม.ค. โดยระบุว่า กรรมการ BOJ หลายคนได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการประเมินผลกระทบของการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุมเมื่อวันที่ 17-18 ม.ค.

คณะกรรมการ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่น หลังจากในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา BOJ ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดการเงินด้วยการประกาศขยายรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่อยู่ในกรอบ -0.25% ถึง +0.25% ซึ่งทำให้ตลาดตีความว่า BOJ กำลังส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงิน

ทั้งนี้ กรรมการหลายคนมองว่า BOJ จำเป็นต้องใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไปเนื่องจากยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ขณะที่กรรมการรายหนึ่งกล่าวว่า การที่ BOJ ตัดสินใจขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในเดือน ธ.ค.นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพที่ยั่งยืนของระบบการเงิน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 129.04-29.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 129.58/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนธันวาคม (26/1), จีดีพีไตรมาส 4/2565 (26/1), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (26/1) และยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย เดือนธันวาคม (26/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภารเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.50/-9.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.60/-6.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ