บาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ จับตาดูสุนทรพจน์พาวเวลล์

เงินบาท-ธนบัตรไทย-banknote
REUTERS/Athit Perawongmetha

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ปิดตลาดที่ระดับ 33.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตลาดจับตาดูสุนทรพจน์ของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด เพื่อหาสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในการประชุมรอบถัดไป

สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/2) ที่ระดับ 33.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (6/2) ที่ระดับ 33.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องภายหลังตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์

โดยตลาดกำลังจับตาดูสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในงานเสาวนาที่จัดขึ้นในคืนวันนี้ โดยสมาคมเศรษฐกิจแห่งวอชิงตัน (Economic Club of Washington) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในการประชุมรอบถัดไป โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.55-33.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ วานนี้กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ประจำเดือนมกราคม 2566 ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อของไทย โดยตัวเลขดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.02% จากปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.1% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 9 เดือน หลังสถานการณ์ราคาพลังงานปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าบางประเภทปรับตัวลดลง เช่น เนื้อหมู ผักสด เป็นต้น

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ไม่รวมสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงาน ปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 3.04% เมื่อเทียบรายปี และต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ระดับ 3.1 โดยนายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า แนวโน้มชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลให้ความต้องการบริโภคโดยรวม รวมถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัว ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของไทยลดลงและกดดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่สูงมากนัก

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/2) ที่ระดับ 132.53/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (6/1) ที่ระดับ 132.09/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาดูการเลือกผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยหนังสือพิมพ์นิกเคอิรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทาบทามนายมาซาโยชิ อามามิยะ รองผู้ว่าการ BOJ ให้เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น แทนนายฮารุฮิโกะ คุโดดะ ผู้ว่าการคนปัจจุบัน ซึ่งจะหมดวาระในวันที่ 19 มีนาคม 2566

โดยนายอามามิยะมีบทบาทสำคัญในการร่างโครงการและนโยบายต่าง ๆ ซึ่งหากนายอามามิยะเข้ารับตำแหน่งอาจทำให้ตลาดต้องมีการปรับมุมมองแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ BOJ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา นายอามามิยะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายของนายคุโรดะ รวมทั้งเป็นผู้สนับสนุนการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ (Ultra-Easy Policy) ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 131.72-132.71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 131.88/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/2) ที่ระดับ 1.0734/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (6/2) ที่ระดับ 1.0771/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าตามการแข็งค่าของสหรัฐ หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่ประกาศออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0698-1.0743 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0713/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ คำกล่าวของนายพาวเวลล์ (Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (7/2), ดุลการค้า (ธ.ค.) ของสหรัฐ (7/2), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมนี (9/2), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (9/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกน (ก.พ.) ของสหรัฐ (10/2)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.25/-9.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.85/-5.15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ