KTC-อาลีเพย์ ปั้นพอร์ตแสนล้าน จับนักช็อปจีนเปย์หนัก

นักท่องเที่ยวจีน

เคทีซี ตั้งเป้าปี 2566 ปริมาณรับชำระเงินผ่านร้านค้าแตะ 1 แสนล้านบาท โต 20% ลุยขยายร้านค้าเพิ่ม 10,000 แห่ง ผนึกอาลีเพย์ จับนักช็อปจีน หลังพบต้นปีกลุ่มกำลังซื้อสูงอายุ 25-40 ปี เปย์หนัก ใช้จ่ายซื้อ “กระเป๋าแบรนด์เนม-เที่ยวคอนเสิร์ต-เสริมความงาม”

เป้าเพย์เมนต์วอลุ่มแสนล้าน เพิ่มร้านค้าหมื่นแห่ง

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวเนาวรัตน์ กีรติเกษมสุข ผู้บริหารสูงสุด สายงานบริหารร้านค้าสมาชิก บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า ในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าพอร์ตธุรกิจร้านค้ารับชำระของเคทีซี (Merchant Acquiring Business) ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ จะมีปริมาณรับชำระเงิน (Payment volume) แตะระดับ 1 แสนล้านบาท เติบโตไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับปี 2565

มาจากบริการรับชำระธุรกิจร้านค้าทั้งหมด 6 ประเภทคือ 1.บริการเครื่องรูดบัตร EDC 2.บริการ KTC Payment Gateway 3.บริการรับชำระผ่านลิงก์เพย์ (Link Pay) 4.KTC QR Pay 5.บริการ KTC Recurring และ 6.บริการรับชำระเคทีซี-อาลีเพย์ โดยบริการของเคทีซีนั้นจะโอนเงินให้ร้านค้าภายในวันสำหรับรายการชำระผ่านบัตรเครดิต ส่วนชำระผ่านอาลีเพย์จะโอนให้ร้านค้าในวันถัดไป

โดยปีนี้บริษัทมีแผนจะขยายพันธมิตรร้านค้าที่รับบริการชำระเพิ่มอีก 10,000 ร้านค้า จากปี 2565 ที่มีร้านค้าอยู่เกือบ 50,000 ร้านค้า

นางสาวเนาวรัตน์ กีรติเกษมสุข
นางสาวเนาวรัตน์ กีรติเกษมสุข

สำหรับพอร์ตธุรกิจร้านค้ารับชำระของเคทีซีในปี 2565 ที่ผ่านมา ถือว่ามีปริมาณรับชำระเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปี 2564 เป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมไปท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพฯ, พัทยา, เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น

โดยคาดหวังว่าสิ้นปีนี้หลังจีนเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 ซึ่งตามคาดการณ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ทท.) จะมีนักท่องเที่ยวจีนมาเยือนไทยกว่า 3 แสนคนในไตรมาสแรก และทั้งปีแตะ 5 ล้านคน เราเชื่อว่าจะเป็นแรงผลักให้ช่องทางบริการรับชำระเคทีซี-อาลีเพย์ มีโอกาสเติบโตสูง

ซึ่งปัจจุบันเคทีซีมีร้านค้าที่รับบริการชำระด้วยอาลีเพย์ (Alipay) อยู่กว่า 5,440 ร้านค้าทั่วประเทศ สามารถรองรับการชำระค่าสินค้าและบริการของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาใช้จ่ายกับร้านค้าในประเทศไทยได้ ทั้งร้านค้าที่มีหน้าร้านและร้านค้าออนไลน์ในหลากหลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจร้านอาหาร, ช็อปปิ้งมอลล์, ร้านขายของฝากของที่ระลึก และโรงแรมที่พัก

“การเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักช็อปรายใหญ่กลับสู่ประเทศไทย หลังห่างหายไปเกือบ 3 ปี จากการระบาดโควิด เป็นที่คาดหวังว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจบริการต่าง ๆ และขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อีกทางหนึ่ง เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มโอกาสทางการขายให้กับร้านค้าทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวจีน”

ยอดชำระอาลีเพย์ โต 150%

นายสิทธิพงษ์ กิตติประภาพงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อาลีเพย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน Alipay มีผู้ใช้งานอยู่ประมาณ 1 พันล้านคน โดยเราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนและนักช็อปที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทย ตั้งแต่ในช่วงตรุษจีนปีนี้ (ระหว่างวันที่ 21-27 ม.ค. 2566) โดยอาลีเพย์มียอดชำระเพิ่มขึ้น 150% ทั่วโลกโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยมีปริมาณรับชำระของอาลีเพย์สูงที่สุด

นักช็อปจีนเปย์หนัก “แบรนด์เนม-เที่ยวคอนเสิร์ต-เสริมความงาม”

นอกเหนือการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคตามร้านสะดวกซื้อในแต่ละวันแล้วนั้น นักท่องเที่ยวจีนยังมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าแบรนด์เนม ซึ่งเห็นยอดใช้จ่ายสูงขึ้นชัดเจนผ่านห้างสรรพสินค้าหรือร้านช็อปปิ้งไฮเอนด์ในประเทศไทย และใช้จ่ายผ่านร้านค้าปลอดภาษี ใช้จ่ายเพื่อต้องการใช้ชีวิต เช่น เข้าพักโรงแรม 5 ดาว เช่ารถขับเอง ไปรับชมคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี รวมไปถึงใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพในโรงพยาบาลและคลินิกเสริมความงาม และใช้จ่ายเพื่อการศึกษา

นายสิทธิพงษ์ กิตติประภาพงศ์
นายสิทธิพงษ์ กิตติประภาพงศ์

“กลุ่มแรกที่เข้ามานั้นจะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพักตามลำพัง (Free Individual Traveler : FIT) อายุประมาณ 25-40 ปี แม้ว่าอายุน้อยแต่มีกำลังซื้อสูง โดยมียอดใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาทต่อคนต่อทริป และใช้เวลาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 4-5 วัน”

นายสิทธิพงษ์กล่าวต่อว่า และหลังจากทางการจีนเปิดให้บริษัทนำเที่ยวจัดกรุ๊ปทัวร์นำนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางออกเที่ยวต่างประเทศได้ คาดว่าช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นช่วงพีกของการท่องเที่ยวเพราะเข้าสู่เทศกาลเช็งเม้งและวันแรงงาน จะหนุนการเดินทางมาไทยเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทกำลังอยู่ระหว่างเตรียมแคมเปญ welcome back เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย รวมไปถึงมีแคมเปญตลอดปี โดยจะใช้งบการตลาดเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกินกว่าสองดิจิต