ทำไม ‘ตู้เต่าบิน-ตู้บุญเติม’ ยอดใช้บริการดิ่ง แต่แผนปี 66 ขยายอีก 5 พันตู้

ตู้เต่าบิน

เปิดสาเหตุว่าทำไม? ‘ตู้เต่าบิน-ตู้บุญเติม’ ยอดขายเฉลี่ยต่อเดือน-ยอดทำรายการดิ่ง กดกำไร FSMART ลดลง 24.5% พร้อมกางแผนปี 2566 ยังลุยขยายค่าเฟ่อัตโนมัติเต่าบิน เพิ่ม 5,000 ตู้ ทุ่มงบขยายตู้ชาร์จอีวี 5,000 จุด ด้าน FORTH เตรียม spin-off ‘ฟอร์ท อีเอ็มเอส’ เข้าตลาดหุ้น

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจ จะพาไปสำรวจภาพรวมผลการดำเนินงานของธุรกิจ “ตู้เต่าบิน-ตู้เติมเงินบุญเติม” ในเครือบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FORTH ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART เจ้าของตู้เติมเงินบุญเติม ซึ่งปัจจุบันทั้งสองบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด (FVD) เจ้าของตู้เต่าบิน ที่สัดส่วน 45% และ 26.71% ตามลำดับ โดยล่าสุดได้ประกาศผลประกอบการปี 2565 ออกมาแล้ว

FSMART กำไรลดลง 24.5%

โดยพบว่า FSMART ในปี 2565 มีรายได้รวมจาก 4 รายการหลัก จำนวน 2,238 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 16.5% เทียบจากปี 2564 จากภาวะเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากปัจจัยราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น กดดันกำลังซื้อของผู้ใช้บริการระดับกลางและล่างอย่างมาก ประกอบกับสถานการณ์อุทกภัยที่รุนแรงกว่าปกติ

โดยถูกกดดันจากรายได้จากการให้บริการเครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติ ลดลง 13% เหลือ 1,662 ล้านบาท และรายได้ผลตอบแทนจากการให้บริการเติมเงินโทรศัพท์ ระบบเติมเงินล่วงหน้าและรับชำระเงินออนไลนอื่น ๆ ที่ลดลง 27.8% เหลือ 541 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูง พร้อมกับการผลักดันของผู้ให้บริการให้ลูกค้าเปลี่ยนจาก Prepaid เป็น Postpaid รวมถึงการโทรผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยที่ทำให้บริการเติมเงินมือถือลดลง

ในขณะที่มีรายได้ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 101.9% มาอยู่ที่ 25 ล้านบาท และมีรายได้ค่าโฆษณา 9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.8% ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 301 ล้านบาท ลดลง 24.5%

เต่าบิน ยอดขายเฉลี่ยต่อตู้ต่อเดือน ลดลง 5.9%

ในส่วนภาพรวมธุรกิจตู้เต่าบินปี 2565 มีมูลค่ายอดขายเต่าบินอยู่ที่ 1,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2,920% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ยอดขายเฉลี่ยเต่าบินต่อตู้ต่อเดือน ลดลง 5.9% จากเดือนละ 47,379 บาท เหลือ 44,574 บาท โดยมีจำนวน “ค่าเฟ่อัตโนมัติเต่าบิน” ทั่วประเทศจำนวน 4,942 ตู้ เพิ่มขึ้น 805.1%

ทั้งนี้ FSMART เผยว่า ช่วงไตรมาส 4/2565 เต่าบินมียอดขายเฉลี่ยที่ 46 แก้วต่อตู้ต่อวัน เนื่องจากการเร่งขยายจำนวนตู้เต่าบินให้ได้ตามแผน ซึ่งอาจเจอบางพื้นที่ที่ยอดขายไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ทางบริษัทสามารถย้ายไปตั้งที่ทำเลใหม่ได้ และผลกระทบจากฤดูกาล ฤดูร้อนขายดีกว่าฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งบริษัทมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถบริหารยอดขายเฉลี่ย 50 แก้วต่อตู้ต่อวัน ได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

ทั้งนี้เต่าบินยังคงเดินหน้ารังสรรค์เมนูใหม่ให้เข้ากับเทศกาลและลูกค้าได้ทดลองเมนูใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงการมีแคมเปญร่วมกับลูกค้าในการร่วมใช้สิทธิกับพาร์ตเนอร์แลกส่วนลดต่าง ๆ

ตู้บุญเติม ยอดทำรายการดิ่ง

ส่วนมูลค่าการทำรายการผ่าน “ตู้บุญเติม” มีจำนวน 35,862 ล้านบาท ลดลง 5.6% โดยมูลค่าเติมเงินและรับชำระบิล 25,151 ล้านบาท ลดลง 0.1% มูลค่าโอนเงิน 10,711 ล้านบาท ลดลง 16.3% มีจำนวนรายการโอนเงินต่อเดือน 1.46 ล้านครั้ง ลดลง 16% และมีจำนวนตู้บุญเติมทั่วประเทศ 129,918 ตู้

ปี 2566 ขยายตู้เต่าบิน 5 พันตู้

ทั้งนี้ตั้งเป้าปี 2566 มูลค่าใช้บริการผ่านระบบบุญเติมเพิ่มขึ้น 5-10% YOY และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้นเต่าบินเต็มปี และตั้งเป้าขยายค่าเฟ่อัตโนมัติเต่าบิน เพิ่ม 5,000 ตู้ เป็น 10,000 ตู้ โดยใช้งบลงทุน 1,000-1,500 ล้านบาท ขยายจุดติดตั้ง GINKA Change point (จุดชาร์จรถอีวี) จำนวน 5,000 จุด ตู้ Mini ATM และอื่น ๆ

FORTH กำไร 775 ล้าน โต 7%

ส่วนผลประกอบการ FORTH พบว่าปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 9,754 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 941 ล้านบาท หรือ +11% เมื่อเทียบจากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 775 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53 ล้านบาท +7%

โดย FORTH มีอยู่ 3 กลุ่มธุรกิจหลักคือ 1.ธุรกิจอีเอ็มเอส (ส่วนงานที่ทำการจัดหา ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งงานสั่งผลิตและอุปกรณ์ทั่วไป) มีรายได้ 4,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,511 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 57%

มีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของคําสั่งซื้อของลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่ง ของงานรับจ้างผลิตและประกอบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และการจําหน่ายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางรายการ ซึ่งไม่สามารถหาซื้อได้ในท้องตลาดในปัจจุบัน

2.ธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ โซลูชั่นส์ (ส่วนงานที่รับงานโครงการ จัดหา จัดจ้างและวางระบบต่าง ๆ จากภาครัฐและภาคเอกชน) มีรายได้ 1,860 ล้านบาท ลดลง 1,116 ล้านบาท หรือลดลง 38% สาเหตุจากการลดลงของรายได้งานโครงการขนาดใหญ่ เช่น งานจ้างทําระบบ Smart Metro Grid, ขายพร้อมติดตั้งระบบ Digital Trunked Radio ซึ่งได้ดําเนินงานและทยอยส่งมอบงานมาตั้งแต่ปีก่อน ประกอบกับในปี 2564 มีรายได้จากการขายโบกี้ปั้นจั่นกล ซึ่งมีจํานวน 786 ล้านบาท

3.ธุรกิจสมาร์ท เซอร์วิส (ส่วนงานที่ให้บริการธุรกรรมการเงินออนไลน์ จำหน่ายสินค้าและบริการผ่านตู้อัตโนมัติ) มีรายได้ 3,417 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 523 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจตู้เต่าบิน

โดยปี 2565 ได้ใช้กระแสเงินสดในกิจกรรมลงทุน จํานวน 1,723 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,349 ล้านบาท เทียบจากปีก่อน เนื่องจากการลงทุนซื้อตู้เต่าบิน การก่อสร้างอาคารโรงงานผลิตสินค้า และการซื้อที่ดินเพื่อรองรับการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทในอนาคต

เตรียม spin-off ‘ฟอร์ท อีเอ็มเอส’ เข้าตลาดหุ้น

และล่าสุดทางมติที่ประชุมคณะกรรมการ FORTH เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2566 เห็นชอบให้บริษัท ฟอร์ท อีเอ็มเอส จํากัด (มหาชน) หรือ FEMS ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทดําเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสํานักงาน ก.ล.ต. ตามแผนการ Spin-off

โดยแผนไอพีโอ FEMS ในครั้งนี้จะส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทใน FEMS ลดลง (Control Dilution Effect) ) โดย FEMS จะเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 400 ล้านบาท คิดเป็นจํานวนหุ้น 800 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น

เป็น 560 ล้านบาท คิดเป็นจํานวนหุ้น 1,120 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น ด้วยการเพิ่มทุนจดทะเบียนจํานวน 160 ล้านบาท คิดเป็นจํานวนหุ้น 320 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 28.57% ของหุ้นที่ออกและจําหน่ายแล้วทั้งหมดของ FEMS

ทังนี้ภายหลังการ IPO บริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ FEMS ในสัดส่วนการถือหุ้นลดลงจากเดิม 87.50% คงเหลือ 62.50% ของทุนชําระแล้วของ FEMS ภายหลังการ IPO และ FEMS จะยังมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ FORTH

และเพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทที่อาจเกิดขึ้นจากแผน Spin-off จึงเห็นควรให้มีการเสนอขายหุ้น IPO กลุ่มที่เป็นผู้ถือหุ้นสามัญของบริษัท ให้มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นของ FEMS ตามสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท (Pre-emptive Rights) จํานวนไม่เกิน 96 ล้านหุ้น

หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 30% โดยหากมีหุ้นสามัญที่เหลือจากการเสนอขาย Pre-emptive Rights ให้ FEMS นําหุ้นที่เหลือจัดสรรเสนอขายต่อประชาชนต่อไป

และขายหุ้นไอพีโอให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานของ FEMS เป็นจํานวนไม่เกิน 56 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25% ของจํานวนหุ้น IPO หลังหัก Pre-emptive Rights ในครั้งนี้ และคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 7.14% ของจํานวนหุ้นที่จําหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ FEMS

ชงผู้ถือหุ้น 24 เม.ย. ปันผล 0.52 บาท

โดยจะเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ช่วงวันจันทร์ที่ 24 เม.ย. 2566 พร้อมทั้งขออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจําปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.52 บาท จํานวนเงิน 486 ล้านบาท จ่ายจากกําไรสุทธิปี 2565