หนี้เน่า “นาโนไฟแนนซ์” พุ่ง 2 ค่ายแก้เกมเกาะลูกค้าเก่า

เปิดข้อมูล ธปท.เผยหนี้เสียนาโนไฟแนนซ์ปี”60 พุ่งไม่หยุด ผู้ประกอบการต้องเพิ่มความระมัดระวังปล่อยกู้ “ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ฯ-กรุงศรี คอนซูเมอร์” เน้นลูกค้าเก่า พร้อมเล็งหาโมเดลปล่อยสินเชื่อลูกค้าใหม่ ทั้งหั่นวงเงินกู้ต่อราย-ใช้เครดิตสกอริ่ง หวังลดความเสี่ยงเป็น NPL

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (นาโนไฟแนนซ์) จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์มีแนวโน้มเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2560 มี NPL รวมอยู่ที่ 196 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 60% หรือจำนวน 73 ล้านบาท จากไตรมาส 3 ปี 2560 ที่มี NPL จำนวน 123 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นถึง 899% หรือจำนวน 178 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2559 ที่มี NPL อยู่แค่ 18 ล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ณ สิ้นปี 2560 มียอดปล่อยสินเชื่อรวมอยู่ที่ 4,777 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 916 ล้านบาท หรือ 23.72% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2560 ที่มียอดปล่อยสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3,861 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 232% หรือจำนวน 3,342 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2559 ที่มียอดปล่อยสินเชื่อเพียง 1,435 ล้านบาท

นางสาวธิดา แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 1979 กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ให้ความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มากขึ้น เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด NPL โดยบริษัทได้ปรับกระบวนการปล่อยสินเชื่อใหม่ เพื่อลดและควบคุม NPL ที่จะเกิดใหม่ เช่น การใช้เครดิตสกอริ่ง หรือฐานข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร มาประกอบการอนุมัติสินเชื่อ เป็นต้น ส่งผลให้ NPL บริษัทปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และสามารถควบคุมได้ โดยสิ้นปี 2560 ลดลงมาอยู่ที่กว่า 1% จากที่ต้นปี 2560 มี NPL ราว 2%

ทั้งนี้ บริษัทจะเน้นปล่อยสินเชื่อลูกค้าเก่าเป็นหลัก เพราะสามารถรู้พฤติกรรมการชำระหนี้ได้ดีกว่าลูกค้าใหม่ อย่างไรก็ดี บริษัทกำลังหาโมเดลที่เหมาะสมที่สามารถลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าใหม่ได้ เช่น อาจใช้ข้อมูลเครดิตสกอริ่งประกอบกับการให้สินเชื่อ หรือปล่อยสินเชื่อเริ่มต้นไม่เกิน 10,000 บาท/ราย จากปัจจุบันที่ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าเก่าเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท/ราย ซึ่งเมื่อลูกค้าใหม่มีประวัติการชำระเงินที่ดี ก็เพิ่มวงเงินให้ได้ในระยะถัดไป

“ตอนที่เริ่มปล่อยสินเชื่อเมื่อ 2-3 ปีก่อน เรามีหนี้เสียถึง 50% ของวงเงินปล่อยกู้ ทำให้เราค่อนข้างระมัดระวัง และปรับโมเดลการปล่อยสินเชื่อมาตลอด เพื่อทำให้เอ็นพีแอลลดลงต่อเนื่อง โดยสำหรับปี 2561 นี้ เราตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ว่าถึงสิ้นปียอดสินเชื่อคงค้างจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,100-1,200 ล้านบาท จากสิ้นปี 2560 ที่มียอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 800-900 ล้านบาท” นางสาวธิดากล่าว

นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด (กรุงศรี คอนซูเมอร์) กล่าวว่า สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ของบริษัท เรียกว่า “สินเชื่อเถ้าแก่ทันใจ” ปัจจุบันหนี้เสียก็มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2561 จากสิ้นปี 2560 ที่ NPL อยู่ที่ 7% และยังไม่รู้ว่าจะสูงสุดที่ระดับใด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น ๆ เนื่องจากการบริหารจัดการด้านการเงินของผู้ประกอบการไม่ค่อยมีเสถียรภาพนัก

ดังนั้นบริษัทจึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยเน้นปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าเก่าเป็นหลัก ส่วนลูกค้าใหม่อาจปรับโมเดลการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยหันไปหาลูกค้าที่เป็นห้างร้าน หรือสถานประกอบการ แทนพ่อค้าแม่ค้าในตลาดที่ปล่อยสินเชื่อให้อยู่ในปัจจุบัน

“อดีตเราเน้นหาลูกค้าในตลาดที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า โดยส่งคนไปเฝ้าดูพฤติกรรมการขายของ ชำระเงิน รับเงิน ซึ่งก็เป็นต้นทุนบริษัท ดังนั้นเราอาจต้องปรับวิธีการหาลูกค้า และไม่เน้นส่งคนไปหาลูกค้าเหมือนในอดีตแล้ว แต่ให้ผู้กู้ที่สนใจติดต่อผ่านสาขาที่ให้บริการของเฟิร์สช้อยส์แทน” นางสาวณญาณีกล่าว

ทั้งนี้ปัจจุบันยอดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์คงค้างรวมแล้วเกือบ 80 ล้านบาท และปี 2561 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 75 ล้านบาท ขณะที่วงเงินสินเชื่อต่อรายปัจจุบันอยู่ที่ 30,000 บาท