เงินบาทพลิกแข็งค่านำภูมิภาค “ปิด SVB-ดอลลาร์อ่อน” หนุนสกุลเงินเอเชีย

เงินบาท
ภาพจาก PIXABAY

ธนาคารกรุงไทย เผยธนาคาร Silicon Valley Bank ปิดทำเงินสกุลเอเชีย-เงินบาทพลิกแข็งค่า ชี้เงินบาทแข็งค่าสูงสุดในภูมิภาค 1.6% รองลงมา เกาหลี-วอน และหยวน-จีน หลังตลาดปิดรับความเสี่ยง หนุนเงินดอลลาร์อ่อนค่า มองเฟดจัดการปัญหาเร็ว คาดกลับมาขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อต่อ  

วันที่ 13 มีนาคม 2566 นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment and Markets Research สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB ธนาคารขนาดใหญ่ลำดับ 16 ของสหรัฐ ที่เกิดภาวะ Bank Run ขึ้น ซึ่งผลต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น

ทั้งนี้ ภาพรวมในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยปกติในภาวะตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk off) จะมีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า และเงินสกุลเอเชีย และเงินบาทจะอ่อนค่า แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะสหรัฐ

ซึ่งก่อนหน้านี้ตลาดมีการคาดการณ์ประมาณ 70-80% ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ SVB ทำให้โอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ไม่เกิดขึ้น แต่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25%

ดังนั้น จากสถานการณ์นโยบายการเงินปรับเปลี่ยนไป ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าทันที และเงินสกุลเอเชีย และเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าทันที โดยเฉพาะวันนี้ (13 มี.ค. 66) ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1.6% เมื่อเทียบกับปิดตลาดวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 มี.ค. 66) โดยเป็นการแข็งค่าสูงสุดในภูมิภาค รองลงมาจะเป็นเงินวอน-เกาหลี แข็งค่า 1.4% และเงินหยวน-จีน แข็งค่า 0.9%

“ตอนนี้มุมมองเฟดอาจจะยังขึ้นดอกเบี้ยแรง ๆ ไม่ได้ เพราะระบบแบงก์แย่ แต่หากสถานการณ์แบงก์ในสหรัฐไม่ลุกลาม เชื่อว่าเฟดจะกลับไปขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง เพราะรอบนี้เฟดมีมาตรการ Take Action เร็ว ซึ่งตลาดไม่ลุกลาม เฟดจะกลับไปโฟกัสเงินเฟ้อ เพราะตอนนี้เฟดยังมีเวลารอดูตัวเลขเงินเฟ้อ CPI เดือน ก.พ.ที่จะออกมา ซึ่งหากตัวเลขออกมาสูงกว่าคาดการณ์”

“โอกาสดอลลาร์แข็งค่าขึ้น บาทกลับมาอ่อนค่าก็มี ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวผันผวน 2 ทิศทาง โดยระยะข้างหน้า 10 เดือนเรายังให้กรอบบนที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ จากประเด็นเงินเฟ้อสหรัฐ การซื้อดอลลาร์เพื่อจ่ายเงินปันผล ซึ่งเป็นประเด็นกดดันค่าเงินทั่วโลก”