เปิด 5 ผลกระทบแบงก์สหรัฐล้ม โบรกฯชี้เอฟเฟ็กต์ไทยแนะถือเงินสดรับมือ

เปิด 5 ผลกระทบ ปิดตัว 3 สถาบันการเงินสหรัฐ บล.เอเซีย พลัส ชี้กระทบไทยวงจำกัด แนะ “ถือเงินสด” บางส่วน 10-20% รับมือตลาดหุ้นผันผวนในช่วงสั้น

วันที่ 14 มีนาคม 2566 ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด รายงานว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงินของสหรัฐ ซึ่งในช่วง 1-2 สัปดาห์ มีสถาบันการเงิน 3 แห่ง ที่ปิดตัวลง ได้แก่ Silvergate Capital, Silicon Valley Bank และล่าสุด Signature Bank ทั้งนี้เรามี 5 มุมมองต่อเรื่องดังกล่าวคือ

1.ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งผลมาจากการที่เฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแรง ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ของสถาบันการเงินลดลง ซึ่งกรณีดังกล่าวก็อาจเกิดขึ้นได้กับสถาบันการเงินอื่น ๆ ซึ่งต้องติดตาม

2.คาดว่าเฟดน่าจะทบทวนท่าทีในการปรับขึ้นดอกเบี้ยโดยอาจชะลอลง 3.ค่าเงินดอลลร์สหรัฐน่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่า 4.โอกาสที่จะนำไปสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในสหรัฐ เพิ่มขึ้น และ 5.ความผันผวนต่อตลาดการเงินโลกจะมีมากขึ้นในช่วงจากนี้ไป

ส่วนประเทศไทยผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นในเชิง Sentiment ส่วนผลกระทบในทางพื้นฐานไม่น่าจะมีนัยสำคัญ คาดว่าดัชนีหุ้นไทย (SET Index) จะได้รับ Sentiment เชิงลบอันเนื่องมาจากปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐ แต่ยังมองว่าแนวรับ 1,580 จุด น่าจะรองรับได้ ส่วนแนวต้าน 1,610 จุด หุ้น Top Pick เลือก CBG, HMPRO และ MAJOR และถือเงินสดเพิ่มขึ้น

ดอกเบี้ยสูงทำพิษแบงก์ล้ม

อัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่เร่งตัวขึ้นมาสูง (ปัจจุบันอยู่ที่ 4.75%) ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจชัดเจนมากขึ้น โดยเริ่มจากกลุ่มธนาคาร ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามี 2 สถาบันการเงินฯที่ต้องปิดกิจการ ได้แก่ ธนาคาร Silvergate หลังประสบปัญหาการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจ Cryptocurrency ไม่ว่าจะเป็น Coinbase, Micorstrategy, FTX

รวมถึง Silicon Valley Bank (SVB) ที่กระทบถึง Coinbase และ USDC-US Stable coin Cryptocurrency
การปิดตัวลงของ SVB เป็นประเด็นที่ตลาดให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นธนาคารขนาดอันดับ 16 ของสหรัฐ และนับเป็นเหตุธนาคารล้มครั้งใหญ่สุดในสหรัฐ ในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา

โดยมีลำดับเหตุการณ์ เริ่มจาก SVB ประกาศงบการเงินหลังตลาดปิดในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยได้ขายหุ้น มูลค่ากว่า 2.25 พันล้านดอลลาร์ (Market Cap. หลังตลาดปิดวันศุกร์เหลือ 6.27 พันล้านดอลลาร์) โดยบริษัทมีผลขาดทุนจากการขายตราสารหนี้ไป 1.8 พันล้านดอลลาร์ จากการขายตราสารหนี้ไปเป็นจำนวนกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อรักษาสภาพคล่อง

ซึ่งประสบปัญหาเรื่อง NPL จากการปล่อยกู้ในธุรกิจ Startup ในสหรัฐ และขาดสภาพคล่องจากเงินฝากก่อนและใหม่มีน้อยเกินไป ทำให้ต้องเร่งระดมทุนและขายทรัพย์สิน

ขณะที่ปัจจุบันทางการสหรัฐได้เข้ามาสั่งปิดธนาคารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ FDIC (Federal Deposit Insurance Corporation) จะเข้ามาดำเนินการจ่ายเงินประกันตามที่กฎหมายคุ้มครองที่ 250,000 ดอลลาร์ ถ้าดูตัวเลขไตรมาส 4/65 มีจำนวนบัญชี 2.7% เท่านั้นที่เป็นบัญชีเงินฝากของผู้ฝากเงินรายย่อย

5 ผลกระทบ วิกฤตแบงก์สหรัฐล้ม

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้ทำการประเมินผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ดังนี้คือ 1.ต้นเหตุของการล่มสลายสามารถเกิดขึ้นกับธนาคารอื่นได้ทั่วไป จากปัญหาขาดสภาพคล่องและการปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัท Startup มากจนเกินไป ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่เช้านี้ทางการสหรัฐยังมีการสั่งปิดธนาคาร
เพิ่มเติมคือ Signature Bank (SBNY) เพื่อจำกัดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งย้ำถึงจุดยืนในการประกันเงินฝากของสถาบันการเงิน

2.ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะลดความร้อนแรงลง โดยเฟดประชุมฉุกเฉินในวันนี้ (13 มี.ค. เวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น) เพื่อถกปัญหาดังกล่าว รวมถึงทบทวนและตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า ซึ่งอาจมีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุม 22 มี.ค.นี้ ขณะที่ Fed Watch Tool ให้น้ำหนักสูงถึง 82.6%

3.ดอลลาร์อ่อนค่า จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่แตกต่างกันระหว่างเฟดกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดย
ตลาดคาดวันที่ 22 มี.ค. เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ 5% ส่วน ECB มีรอบการประชุมที่เร็วกว่า วันที่ 16 มี.ค. และขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่า 0.5% มาอยู่ที่ 3.5% รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยง Recession

4.โอกาสเกิด Recession อาจสูงในระยะถัดไป เนื่องจากปัญหาของ SVB อาจเห็นผลกระทบได้หลายทาง ตั้งแต่ Bank Run โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก, การขาดทุนจากการขายตราสารหนี้เพื่อรักษาสภาพคล่องเพื่อป้องกัน Bank Run, ธุรกิจที่ฝากเงินไว้กับ SVB Bank อาจขาดสภาพคล่องในการทำธุรกิจ

5.เกิดความผันผวนในตลาดการเงินไปอีกระยะหนึ่ง ตั้งแต่บอนด์ยีลด์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ปรับตัวลงมาราว -5.2% ถึง -5.8% ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงมากว่า -1.1% ถึง -2.9% ทำให้บริษัทที่น่ากังวล ได้แก่ บริษัทที่มีเงินฝากเป็นจำนวนมาก, ธนาคารขนาดเล็กที่มีบัญชีเงินฝากมากกว่าจำนวนที่กฎหมายคุ้มครอง
250,000 ดอลลาร์ เป็นจำนวนมาก และธนาคารที่มีผล Unrealized loss อยู่ในพอร์ตเป็นจำนวนมาก

นักลงทุนเกาะติดตัวเลขเศรษฐกิจ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐมีการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจในภาคตลาดแรงงาน โดยเห็นสัญญาณชะลอตัว ดังนี้

  • การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐ (Nonfarm Payrolls) ปรับตัวลดลงจาก 517,000 ตำแหน่ง ในเดือน ม.ค. เป็น 311,000 ตำแหน่ง ในเดือน ก.พ.
  • อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจาก 3.4% ในเดือน ม.ค. เป็น 3.6% ในเดือน ก.พ. ซึ่งสูงกว่าตลาดคาดไว้ที่ระดับ 3.4%
  • ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ปรับตัวลดลงจาก +0.3% MOM ในเดือน ม.ค. เป็น +0.2% MOM ในเดือน ก.พ. ซึ่งถือว่าต่ำกว่าตลาดคาดที่ระดับ +0.3% และยังเพิ่มขึ้นแบบ YOY น้อยกว่าที่คาดอีกด้วย

นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐในวันที่ 14 มี.ค.นี้เป็นหลัก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เฟดให้ความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงิน

แบงก์ SVB ล้ม กระทบไทย

กระแส SVB Bank ล้มละลาย กดดันตลาดหุ้นโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยผันผวนในช่วงนี้ แต่คาดว่ากระทบต่อตลาดหุ้นไทยจำกัด สะท้อนได้จากการเกิดปัญหาเกิดจากดอกเบี้ยสหรัฐถูกเร่งขึ้นมาเร็วกว่า 4.25% ในช่วง 1 ปีจาก 0.5% จนล่าสุดอยู่ที่ 4.75% ขณะที่ดอกเบี้ยไทย ธปท.ปรับขึ้น 1% ในช่วง 1 ปีจาก 0.5% ล่าสุดอยู่ที่ 1.75% ต่ำกว่าสหรัฐมาก ทำให้ประสบปัญหาการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและต้นทุนการเงินที่น้อยกว่าสหรัฐมาก

ขณะที่ผลกระทบทางตรง เบื้องต้นฝ่ายวิจัยทำการค้นหาว่า SVB ถือหุ้นใดในบริษัทจดทะเบียนไทยบ้าง ? ซึ่งยังไม่เห็น SVB Bank ติดรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ในหุ้นไทย แต่ในอีกมุมเห็นมีกองทุนรวมดัชนี (Exchange Traded Fund : ETF) ที่มีการลงทุนใน SVB Bank ได้แก่ KRE etf 2.34%, XLF etf 0.41% และ
กองทุนในประเทศไทย ได้แก่ KT-FINANCE, TUSFIN, ONE-GLOBFIN, KWI-USBANK, BFINTECH เป็นต้น

สรุปคือ ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสผันผวนตามสหรัฐในช่วงนี้ แต่ในอีกมุมเสถียรภาพทางการเงินสหรัฐที่ลดลง กดดันให้ค่าเงินสหรัฐที่พลิกกลับมาอ่อนค่า และค่าเงินในเอเชีย รวมถึงบาทที่พลิกกลับมาแข็งค่าต่ำกว่า 35 บาท/เหรียญ อีกครั้ง หนุนต่างชาติที่ลงทุนในไทยมีโอกาสได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และตัดสินใจย้ายเม็ดเงินจากสหรัฐบางส่วนกลับมาสะสมตลาดหุ้นไทยบ้าง ภายใต้ดัชนีที่ต่ำกว่า 1,610 จุด

กลยุทธ์การลงทุนแนะนำถือเงินสดบางส่วน 10-20% ส่วนหุ้นที่อาจผันผวนในช่วงสั้นคือ หุ้นกลุ่ม BANK, TECH แต่หุ้นที่น่าจะได้รับความสนใจมากขึ้นคือ หุ้นกลุ่ม Real Sector อย่าง กลุ่มอาหาร ค้าปลีก รับเหมาฯ โรงไฟฟ้า รวมถึงกลุ่มพลังงาน ที่ได้ประโยชน์จากดอลลาร์อ่อนค่า นอกจากนี้นักลงทุนน่าจะกลับมาโฟกัสเลือกหุ้นที่งบดุลแข็งแกร่งมากขึ้น

โดยฝ่ายวิจัยคัดกรองหุ้นที่เหมาะสมกับการรับมือความกังวลประเด็น Stagflation ผ่านเงื่อนไขต่าง ๆ ดังนี้

1.มีเกราะป้องกันดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นหุ้นที่มีภาระหนี้สินต่ำ (D/E ไตรมาส 4/65 น้อยกว่า 1 เท่า)

2.มีเกราะป้องกันภาวะเงินเฟ้อ เป็นหุ้นที่มีความยืดหยุ่นต่อการกำหนดราคา (Net Profit Margin มากกว่า 7%)

3.เป็นหุ้นพื้นฐาน ฝ่ายวิจัยแนะนำซื้อ มีอัพไซด์