ชิงลูกค้าบัตร TravelCard คึก แบงก์โหมอัดแคมเปญรับท่องเที่ยวฟื้น

ชิงลูกค้าบัตร Travel Card

แบงก์โหมชิงตลาดบัตร “Travel Card” รับเทรนด์ท่องเที่ยวฟื้น-คนไทยแห่เดินทางต่างประเทศ อัดแคมเปญส่วนลด-ชูแลกเงินเรตถูก “กสิกรไทย” ชี้ยอดสมัครบัตร “YouTrip” เดือน ม.ค.พุ่ง 86% ขณะที่บัตร “Krungsri Boarding Card” โตก้าวกระโดด ตั้งเป้าปี’66 ยอดสมัครบัตรโตเท่าตัว ทุกค่ายระบุ “เยนญี่ปุ่น” ฮอตจัด-ลูกค้าแห่แลกเงินไปเที่ยว

นายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ยอดการใช้บัตรท่องเที่ยว (Travel Card) เติบโตต่อเนื่อง โดยยอดสมัครบัตร “YouTrip” ในปี 2565 เติบโต 222% จากปี 2564 ล่าสุดเดือน ม.ค. 2566 มียอดสมัครบัตรเพิ่มขึ้น 86% จากเดือนก่อนหน้า และคาดว่าแนวโน้มการเติบโตยังคงสูงต่อเนื่อง ส่วนยอดใช้จ่ายผ่านบัตร YouTrip เติบโตขึ้น 250% ในปี 2565 ซึ่งยอดใช้จ่ายผ่านบัตรสูงอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน โดยในเดือน ม.ค. 2566 เพิ่มขึ้น 5% จากเดือนก่อนหน้า

 

อมร สุวจิตตานนท์

“ช่วงต้นปี 2566 สกุลที่ลูกค้าแลกเงินมากที่สุด ก็คือ เยน (JPY) ญี่ปุ่น, ปอนด์สเตอร์ลิง (GBP) และดอลลาร์สหรัฐ (USD)”

นางสาวจุฑาศรี คูวินิชกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง YouTrip ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาด Travel Card ยังเติบโตต่อเนื่อง จากสังคมไร้เงินสดที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนจากสถิติด้านปริมาณการชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ประเทศไทยมีการชำระเงินผ่านช่องทาง online payment เช่น internet banking, mobile banking และ e-Wallet เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนมีสัดส่วนมากถึง 92.4% ของปริมาณการชำระเงินทั้งหมด (ม.ค-ก.ย. 2565) และจากคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยน่าจะถึง 95% ของปริมาณธุรกรรมในปี 2566

ตารางแทรเวลการ์ด

สำหรับปี 2566 YouTrip วางกลยุทธ์การให้บริการด้วยอัตราแลกเปลี่ยน “เรต” ที่ดีกว่าอย่างต่อเนื่อง และสร้างแคมเปญโปรโมชั่น เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของนักเดินทางไทยในแต่ละเดือน อย่างช่วงวันที่ 1 ก.พ.-16 เม.ย. 2566 YouTrip ก็มีแคมเปญ “Japan Double Save” เพื่อการท่องเที่ยวสุดคุ้มในญี่ปุ่นด้วยเรตที่ดีกว่า พร้อมรับเงินคืน 2,000 บาท เมื่อสะสมยอดใช้จ่ายสกุลเงิน JPY ครบ 1 แสนบาท (จำกัด 150 สิทธิต่อเดือน)

“ลูกค้ายังคงให้ความสนใจในการใช้งานบัตร YouTrip อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังจากการเปิดประเทศของจีน โดยในปี 2565 มีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 200% และแนวโน้มยังดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดใช้จ่ายที่เติบโตแบบก้าวกระโดดมากกว่า 250% จากการเดินทางระหว่างในครึ่งหลังของปี 2565”

นางสาวกมลวรรณ อิ่มฤทัยเจริญโชค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานผลิตภัณฑ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ลูกค้ารายย่อย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า หลังเปิดประเทศ ยอดสมัครบัตร “Krungsri Boarding Card” เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด หรือในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 ซึ่งธนาคารมีการจัดแคมเปญฟรีค่าธรรมเนียมการสมัครบัตร 150 บาท ถือว่าช่วยกระตุ้นการสมัครบัตรได้มากขึ้น

“ปี 2565 มีลูกค้าสมัครบัตร Krungsri Boarding Card เพิ่มขึ้นมากถึง 200% เมื่อเทียบกับผู้ถือบัตรในปี 2564 โดยในช่วง 1-2 เดือนแรกของปี 2566 ยอดสมัครบัตรใหม่ยังอยู่ในระดับเดียวกับช่วงปลายปีที่แล้ว ทั้งนี้ เป้าหมายปีนี้ เราคาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาสมัครบัตรใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าตัว”

ขณะที่ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มมีการเดินทางนั้น มียอดการใช้จ่ายเติบโตแบบก้าวกระโดด สูงกว่าการใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2564 ถึง 170% ซึ่งสกุลเงินที่ลูกค้านิยมแลกไว้ในบัตรมากที่สุด จะเป็นสกุลเงินของประเทศที่คนไทยนิยมไปท่องเที่ยว ได้แก่ ญี่ปุ่น-JPY, เกาหลี-KRW และอันดับ 3 คือ สกุล USD-ดอลลาร์สหรัฐ

นางสาวกมลวรรณกล่าวว่า กลยุทธ์การเติบโตเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้ ธนาคารจะทำแคมเปญส่วนลด ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ทั้งหน้าร้าน และ online เพื่อให้ลูกค้าได้รับความคุ้มค่ามากที่สุดทั้งจากเรตแลกเงินที่ดีและจากส่วนลดในร้านค้าชั้นนำต่าง ๆ สำหรับผู้ถือบัตร อาทิ แคมเปญส่วนลดที่ Mitsui Outlet แคมเปญส่วนลดโรงแรมเครือ Prince Hotel แคมเปญส่วนลดที่เคาน์เตอร์ JAL ABC ที่สนามบินญี่ปุ่น เป็นต้น รวมถึงยังขยายระยะเวลาฟรีค่าธรรมเนียมสมัครบัตร 150 บาท ให้กับลูกค้าที่สมัครบัตรใหม่อีกด้วย

รายงานจากธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า บัตร Krungthai Travel Card มีอัตราการใช้บัตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังโควิด-19 คลี่คลาย และหลายประเทศเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปท่องเที่ยวได้ โดยในปี 2565 จำนวนบัตรเติบโตเพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีอัตราการใช้บัตรเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 181%

ทั้งนี้ หากดูพฤติกรรมการใช้บัตรของลูกค้า จะพบว่าการใช้บัตร Krungthai Travel Card ของลูกค้ากว่า 99% เป็นการใช้งานบัตรในต่างประเทศ โดยมีการใช้งานบัตรที่ประเทศอังกฤษมากที่สุด รองลงมาเป็นประเทศญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ตามลำดับ ซึ่งการทำรายการส่วนใหญ่ของลูกค้า เป็นการใช้บัตรเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ รองลงมาเป็นร้านอาหารและที่พัก การศึกษา และการเดินทาง ตามลำดับ