ตลท.ชี้ Credit Suisse เอฟเฟ็กต์หุ้นไทยน้อย ไม่ต้องกังวล

Credit Suisse
ภาพจาก AFP

ผู้จัดการตลาดหุ้นไทย ชี้ชัด “Credit Suisse-Silicon Valley Bank” เอฟเฟ็กต์ตลาดหุ้นไทยน้อย ไม่ต้องกังวลถือหุ้น บจ.ไทยในฐานะคัสโตเดียนแบงก์ เจ้าของหุ้นตัวจริงคือนักลงทุน หากเกิดเหตุการณ์เลวร้าย เตรียมเครื่องมือพร้อมดำเนินการไว้แล้ว ลุยหารือ ก.ล.ต.-แบงก์ชาติ “แชร์ข้อมูล-การตัดสินใจ” รับมือตลาดเงินตลาดทุนโลกผันผวน

วันที่ 16 มีนาคม 2566 นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาพดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) วันนี้ (16 มี.ค.) ปรับตัวลงไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นเอเชียในช่วงเปิดตลาด โดยลดลงราว 1-2% ก่อนทยอยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากช่วงก่อนหน้า

มีปัจจัยการปรับลดลงจากผลกระทบจากปัญหาขาดสภาพคล่องของ Silicon Valley Bank (SVB) และปัญหา Credit Suisse (CS) รวมไปถึงการปรับตัวลงของราคาน้ำมันร่วมด้วย โดยราคาน้ำมัน Brent Crude Oil ปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับ 74 เหรียญต่อบาร์เรล ลดลงมากกว่า 7% ในช่วง 3 วัน

ทั้งนี้กรณี SVB และ CS มองว่ายังกระทบต่อตลาดหุ้นไทยน้อย หากแต่ปัจจุบันตลาดมีความไม่แน่นอนสูง อาจจะเกิดผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต อย่างไรก็ดีตลาดหลักทรัพย์ฯได้เตรียมเครื่องมือหรือมาตรการรองรับสำหรับเหตุการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นไว้แล้ว

“มาตรการที่เรามีสามารถใช้ได้เสมอในเวลาที่ตลาดผันผวนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่วันนี้ยังไม่ได้มองว่าจะไปถึงจุดนั้น แม้ว่าตลาดหุ้นวันนี้จะเปราะบางมากก็ตาม”

โดยข้อเน้นย้ำว่าผลกระทบจากปัญหา CS จะแตกต่างจากกรณี SVB เพราะเป็นประเด็นเกี่ยวกับผลการดำเนินงานที่ไม่ดีมาอย่างต่อเนื่องและรายงานผลขาดทุนในงบฯปี 2565 ซึ่งสอดคล้องกับที่ National Swiss Bank (NSB) ได้ให้ข้อมูลว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการลุกลาม (No Contagion) มาจากปัญหาการขาดสภาพคล่องในบางธนาคารของสหรัฐ

นอกจากนี้ NSB ก็ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือด้วยวงเงินประมาณ 5.4 หมื่นล้านสวิสฟรังก์ ให้แก่ CS ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบการเงิน (GISB) ซึ่งตลาดตอบรับเชิงบวกทันที

โดยวานนี้ (15 มี.ค.) ตลาดหุ้นยุโรป ปรับตัวลดลง 3-5% มีหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นเซ็กเตอร์หลักที่ฉุดตลาดลง และเมื่อคืนตลาดหุ้นสหรัฐปิดตัวในแดนลบราว 1% ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเปิดตลาด โดยตลาดฟิวเจอร์สของสหรัฐและยุโรปพลิกตัวกลับมาบวก หลังจากได้รับข้อมูลมาตรการช่วยเหลือของ NSB

“สิ่งที่เราพยายามออกมาให้ข้อมูลกับนักลงทุนและผู้ระดมทุน เพื่อให้มีมุมมองหลาย ๆ ด้าน และทันต่อเหตุการณ์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการทำธุรกรรมการเงินผ่านตลาดทุนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงขอเน้นย้ำว่าอยากให้พิจารณว่าเรื่องใดเกี่ยวข้องและเรื่องใดไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย”

นายภากรกล่าวว่า อย่างไรก็ดีนอกจากการออกมาให้ข้อมูลกับนักลงทุนและผู้ระดมทุนแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯพยายามปรึกษากับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศอย่างต่อเนื่องมากขึ้น และมีแผนทำงานร่วมกันมากขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นที่มองว่าไม่ใช่เป็นปัจจัยภายใน

แต่เป็นปัจจัยภายนอก ซึ่งอาจจะมีการตัดสินใจหรือแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานกำกับกันมากขึ้นด้วยเพื่อรับมือความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลก

นายภากรกล่าวว่า นอกจากนี้จากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการตรวจสอบข้อมูล CS เข้าไปถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) นั้น ส่วนใหญ่พบว่า CS เป็นผู้ให้บริการคัสโตเดียนแบงก์ในการรับฝากหุ้น จึงเป็นการถือหุ้นแทนนักลงทุนเท่านั้น จะไม่ได้ถือหุ้น บจ.ไทยโดยตรง จึงไม่ต้องกังวลที่จะมีแรงขายหุ้นออกมา

“คัสโตเดียนแบงก์มีกรรมวิธีในการทำงานค่อนข้างรอบคอบและละเอียดมาก ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ CS จะไม่มากระทบกับการให้บริการกับคัสโตเดียนแบงก์แน่นอน จึงไม่ต้องกังวล เพราะเจ้าของหุ้นตัวจริงคือนักลงทุน” ผู้จัดการตลาดหุ้นไทย กล่าว

นอกจากนี้เนื่องจาก CS เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่มาก และธุรกรรมส่วนใหญ่เกี่ยวกับการออกตราสารต่าง ๆ ให้ บจ. (Invesment Banking) และเป็นผู้จัดหาเรื่องการลงทุน (Private Banking) ให้กับนักลงทุนบุคคลและกลุ่ม HNW

ซึ่งมีธุรกรรมอยู่ทั่วโลก และในประเทศไทย CS เป็นหนึ่งในโบรกเกอร์หลักทรัพย์ (บล.เครดิต สวิส (ประเทศไทย) จำกัด) ที่ให้บริการกับนักลงทุนและผู้ระดมทุนในประเทศไทย ฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วการทำธุรกรรมตัวกลางในประเทศไทย แค่การให้บริการระดมทุน จะไม่ได้เป็นการปล่อยสินเชื่อ

หุ้น