บลจ.ไทยพาณิชย์ ฉลองครบ 10 ปี มุ่งสู่องค์กรดิจิทัลยุคใหม่

SCBAM

บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดวิสัยทัศน์ 10 ปี มุ่งสู่องค์กรดิจิทัลยุคใหม่ เดินหน้าเป็นหนึ่งด้านบริหารจัดการกองทุนระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์-งานบริการที่ครบถ้วนและตอบโจทย์ลูกค้าในทุกกลุ่ม

วันที่ 23 มีนาคม 2566 นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBAM เปิดเผยว่า ในปี 2565 บริษัทประสบความสำเร็จอย่างมาก ในด้านการบริหารจัดการกองทุน ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุน การพัฒนาช่องทางการขาย และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่ดี ซึ่งส่งผล บลจ.ให้ได้รับรางวัลการันตีจากหลายหน่วยงานชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ

โดยหนึ่งในนั้นคือ รางวัลการเป็น บลจ. อันดับหนึ่งด้าน “ความยั่งยืน” รายแรกของประเทศไทย จากเวที SET Awards ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการพัฒนาองค์กรให้ก้าวสู่ความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับทุกองค์กรทั่วโลกด้วยเช่นกัน

บริษัทจึงมีเป้าหมายผลักดันความยั่งยืนให้เข้าไปเป็นส่วนหลักในทุกกิจกรรม เพื่อสร้างการเติบโตและให้เป็นที่เชื่อมั่นของกลุ่มพันธมิตรในระดับภูมิภาค ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือหลักในการผลักดัน เช่น ต่อยอดการใช้ AI & Machine Learning มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และจัดการบริหารกองทุน และการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างประสบการณ์ที่ดีด้านการลงทุนและการบริการให้กับลูกค้า

ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ รองรับการเติบโต และเชื่อมต่อกับพันธมิตรทางธุรกิจต่าง ๆ ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นในอนาคต (Scalable Business) โดยในปี 2576 บริษัทจะก้าวสู่การเป็นที่หนึ่งด้วยวิสัยทัศน์ “To be the Regional Technology and Trusted Partner AMC” ใน 4 เรื่อง

  • (1) การสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงให้นักลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง
  • (2) มีช่องทางและผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันอย่างเหมาะสม และเต็มรูปแบบมากขึ้น
  • (3) เป็นผู้นำการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น
  • (4) เสริมสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่สร้างโอกาสในการเรียนรู้ของพนักงาน เกื้อหนุนการเติบโและประสบการณ์ของพนักงานอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันโลกจะเดินหน้าด้วยเทคโนโลยี แต่บริษัทยังคงเชื่อมั่นว่าพนักงานมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กร โดยบริษัทจะเน้นการสร้างวัฒนธรรมในที่ทำงานผ่านรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น มีแนวปฏิบัติในการทำงานด้วยค่านิยมที่พนักงานงานสามารถเข้าถึงได้ และการสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันเป็นทีม ให้เกิดความไว้วางใจและสร้างความสุขให้กับพนักงานในระยะยาว

นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการลงทุน เปิดเผยกลยุทธ์ด้านการลงทุนว่า  บริษัทจะผลักดันและพัฒนารูปแบบการลงทุนผ่านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง มุ่งมั่นที่จะบริหารกองทุนด้วยวิธี Quantamental Investing ซึ่งคือ Quantitative Analysis (การคำนวนเชิงปริมาณ) รวมกับ Fundamental Analysis (การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน) โดยการใช้ Big Data และ Machine Learning มาผสมผสานกับ Human Expertise เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

ซึ่งการบริหารด้วยวิธี Quantamental Investing จะช่วยให้บริษัทสามารถขยาย Investment Universe การลงทุนได้ในวงกว้าง สามารถสร้างหรือปรับพอร์ตลงทุนได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ทั้งด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน จากกลยุทธ์นี้บริษัทมองว่าค่าใช้จ่ายสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในการประมวลผลและข้อมูลมีความคุ้มค่า เมื่อเทียบกับจำนวนหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นและโอกาสการลงทุนที่ตามมา

นายอาชวิณ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการตลาดและช่องทางการขายกล่าวเพิ่มว่า โลกลงทุนมีนวัตกรรมการเงินเกิดขึ้นตลอดเวลา การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ก้าวทันกับความต้องการของลูกค้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น บริษัทจึงตั้งเป้าหมายการขยายตลาด โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ ด้วยการ

  • (1) จัดตั้งกองทุน Private Asset ที่มีการลงทุนเฉพาะในกลุ่ม Asset Class ต่าง ๆ เช่น Private Equity, Private Credit และ Private Real Estate/Infrastructure
  • (2) เพิ่มและหาโอกาสการลงทุนในกองทุนประเภทอื่น เช่น Hedge Fund เป็นต้น สำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อย
  • (3) วางแผนเพิ่มชนิดหน่วยลงทุนประเภท e-class และ SSF e-class ที่ได้รับการเรียกร้องให้เปิดหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนที่ไม่มีค่าธรรมเนียมการซื้อ (Front-ended fee) และค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management fee) โดยล่าสุดบริษัทมีหน่วยลงทุนประเภท e-class และ SSF e-class จำนวน 80 กองทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สิน (AUM) มากกว่า 2,000 ล้านบาท (ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2566)
  • (4) ขยายกองทุน Index Fund ให้ครอบคลุมภูมิภาคอื่น หรือ Asset Class อื่นเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของนักลงทุนไทยที่ต้องการไปลงทุนในต่างประเทศที่มีมากขึ้นได้ ควบคู่กับการขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางพันธมิตรที่มากขึ้น

รวมถึงตัวแทนขายอิสระ ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของผลการดำเนินงานที่ดีในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทจะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาแอปพลิเคชั่น SCBAM Fund Click ในการให้คำแนะนำด้านการลงทุนและบริการที่ครบวงจร เพื่อช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านการเติบโตของจำนวนลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น จากการเข้าลงทุนตรงกับบริษัท

นางปิ่นสุดา ภู่วิภาดาวรรธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายวางแผน เทคโนโลยีและปฏิบัติการ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาผลักดันองค์กรเพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนเป็นสิ่งจำเป็นและมีความท้าทาย ในโลกยุคดิจิทัลที่มีนวัตกรรมล้ำสมัยให้เลือกใช้มากมาย การใช้งาน Internet และข้อมูลจำนวนมาก ประกอบกับรูปแบบการทำงานแบบ Hybrid model

รวมถึงความซับซ้อนของภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้การรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ (Cyber Security) แบบเดิม ๆ ไม่เพียงพออีกต่อไป ความสามารถในการเตรียมตัวและตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Resilience)

จึงเป็นแผนกลยุทธ์ที่มีความสำคัญต่อการเดินหน้าสู่องค์กรยุคใหม่ของโลกดิจิทัล บริษัทได้นำระบบ AI มาใช้เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจจับภัยคุกคามและการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการปลูกฝังเรื่อง Security จนเป็นวัฒนธรรมขององค์กร และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงานของพนักงานทุกคน นอกจากนี้ เทคโนโลยียังเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยยกระดับการบริการเพื่อสร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อให้กับลูกค้าในรูปแบบออนไลน์ โดยเชื่อมโยงการสื่อสารและให้บริการเป็นหนึ่งเดียวผ่าน Omnichannel ได้ตลอด 24 ชม.

พร้อมนำเทคโนโลยีด้าน Biometric มายกระดับความปลอดภัยและช่วยลดขั้นตอนการทำธุรกรรมต่าง ๆ ให้กับลูกค้า เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดต่อนักลงทุนในทุก ๆ ด้าน เทียบเท่าบริษัทในระดับภูมิภาค เทคโนโลยีจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้องค์กรเติบโตไปสู่ระดับภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ บริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) ณ สิ้นปี 2565 ภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการ เป็นมูลค่ารวมที่ 1,611 พันล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 19.58% ซึ่งยังคงครองอันดับหนึ่งของบริษัทจัดการที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงที่สุด โดยแบ่งสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม (MF) กองทุนส่วนบุคคล (PF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เป็น 892 พันล้านบาท, 535 พันล้านบาท และ 183 พันล้านบาท ตามลำดับ