เปิดข้อมูลบิ๊ก บจ. ควักเงินสด “ซื้อหุ้นคืน” เรื่องสำคัญนักลงทุนต้องสนใจ ?

เปิดข้อมูลบริษัทจดทะเบียนไทย ควักเงินสด “ซื้อหุ้นคืน” ในตลาด เรื่องนี้สำคัญอย่างไร ทำไมนักลงทุนต้องสนใจ ?

วันที่ 24 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ที่นำเงินสดไปซื้อหุ้นของบริษัทตัวเองจากผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ มาเก็บไว้เอง โดยพบว่าช่วงนี้จะมีหลาย บจ.ไทยจำนวนมากที่ทยอยรายงานข้อมูลต่อ SET และในปี 2566 พบว่ามี 3 บจ.รายใหญ่ได้ดำเนินการซื้อหุ้นคืนมาต่อเนื่องและมีมูลค่าค่อนข้างสูง ประกอบด้วย

1.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF โดยตามแผนจะดำเนินการซื้อหุ้นคืนรวม 200 ล้านหุ้น โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2565 จนถึงวันที่ 18 มิ.ย. 2566 และจะขายหุ้นที่ซื้อคืนในวันที่ 18 มิ.ย. 2569 โดยจำนวนรวมของหุ้นที่ซื้อคืนล่าสุด มีจำนวน 44.68 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าเงินที่ซื้อคืนกว่า 1,080 ล้านบาท

2.บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU โดยตามแผนจะดำเนินการซื้อหุ้นคืนรวม 200 ล้านหุ้น โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-30 มิ.ย. 2566 ยังไม่ระบุวันขายหุ้นที่ซื้อคืน โดยจำนวนรวมของหุ้นที่ซื้อคืนล่าสุด มีจำนวน 44.77 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าเงินที่ซื้อคืนกว่า 650 ล้านบาท (ดูตาราง)

3.บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER โดยตามแผนจะดำเนินการซื้อหุ้นคืนรวม 13.89 ล้านหุ้น โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 2565 จนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2566 ยังไม่ระบุวันขายหุ้นที่ซื้อคืน โดยจำนวนรวมของหุ้นที่ซื้อคืนครบทั้งจำนวน คิดเป็นมูลค่าเงินที่ซื้อคืนกว่า 337 ล้านบาท (ดูตาราง)

นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การซื้อหุ้นคืน (Stock Repurchase) ของบริษัทจดทะเบียนไทย ปัจจัยสำคัญจะเป็นเรื่องของการส่งสัญญาณให้กับนักลงทุนหรือตลาดรับรู้ว่าราคาหุ้นของบริษัทตัวเองต่ำเกินไป รวมไปถึงอาจจะเป็นการแก้ปัญหาในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่เห็นด้วยกับนโยบายของบริษัทด้วย

ซึ่งวิธีการซื้อหุ้นคืนของแต่ละ บจ. ก็จะนำเงินสดออกมาซื้อหุ้นของบริษัทตัวเองจากผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ซึ่งข้อดีหรือโมเม้นตัมเชิงบวกคือ 1.เรียกความเชื่อมั่นได้ เพราะเป็นการบ่งชี้ว่าบริษัทมีความมั่นใจในเชิงของผลประกอบการของบริษัทตัวเอง 2.ทำให้กำไรต่อหุ้น (EPS) เพิ่มขึ้น เงินปันผลต่อหุ้น (DPS) เพิ่มขึ้น และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ก็เพิ่มขึ้นด้วย

ข้อควรระวังของการซื้อหุ้นคืน

  • อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มขึ้น ทำให้อาจกระทบต่อความเสี่ยงเรื่องหนี้สิน และข้อจำกัดในการขยายธุรกิจในอนาคต
  • เสียโอกาสสร้างการเติบโต เพราะการที่บริษัทเลือกนำเงินมาซื้อทุน แทนที่จะนำไปลงทุนโครงการต่าง ๆ เพื่อขยายธุรกิจ ก็อาจทำให้อัตราการเติบโตในอนาคตช้าลงได้ รวมถึงเสียความสามารถทางการแข่งขันอีกด้วย หากเป็นการซื้อหุ้นคืนในช่วงที่ธุรกิจกำลังมีวิกฤต
  • สภาพคล่องของหุ้น (Free Float) ลดลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกับบริษัทขนาดเล็กที่มีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อยอยู่แล้ว
  • โดนตัวเลขทางการเงินหลอกตา หลังการซื้อหุ้นคืน นักลงทุนต้องดูผลประกอบการให้ดี เพราะอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ที่ดูดีขึ้นนั้น บางทีอาจจะไม่ได้เติบโตจริง ๆ ก็ได้ เช่น บริษัทซื้อหุ้นคืนที่ 10% ของทุน แปลว่ากำไรต่อหุ้นจะเพิ่มขึ้น 10% อัตโนมัติ เพราะฉะนั้น ถ้ากำไรต่อหุ้นโตไม่ถึง 10% ก็แปลได้ว่าธุรกิจมีการชะลอตัวลง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ สรุปเรื่องนี้ไว้ว่า จะเห็นว่าการซื้อหุ้นคืนมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่นักลงทุนต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ที่สำคัญคือหลายบริษัทมักใช้เครื่องมือนี้ในช่วงตลาดตกต่ำหรือเกิดวิกฤตบางอย่าง จึงยิ่งทำให้การวิเคราะห์ยากไปอีกขั้น แนะนำให้นักลงทุนพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างรอบด้าน เพื่อเจาะลึกเหตุผลจริง ๆ ถึงการตัดสินใจต่าง ๆ