หุ้นกู้ CoCo Bond การลงทุนที่แขวนไว้บนความเสี่ยง ?

การเงิน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ กราฟ เศรษฐกิจ

ทำความเข้าใจหุ้นกู้ CoCo Bond การลงทุนที่แขวนไว้บนความเสี่ยง จากกรณีหุ้นกู้ AT1 ของธนาคารเครดิตสวิสที่ถูกลงมาให้เหลือศูนย์ 

วันที่ 23 มีนาคม 2566 หลังจากเหตุการณ์หุ้นกู้ AT1 ของธนาคารเครดิตสวิสที่มีการปรับลดมูลค่าหุ้นกู้จากมูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์ลงมาให้เหลือศูนย์ สร้างความกังวลต่อนักลงทุนเป็นอย่างมาก และแน่นอนว่าความกังวลกระจายเป็นวงกว้างว่าจะมีธนาคารอื่น ๆ เกิดเหตุการ์แบบนี้ขึ้นซ้ำรอยธนาคารระดับโลกอย่างเครดิสสวิสไหรือไม่ “ประชาชาติธุรกิจ” พาทำความรู้จักหุ้นกู้ความเสี่ยงสูงอย่าง CoCo Bond

หุ้นกู้ CoCo Bond คืออะไร ?

หุ้นกู้ CoCo Bond หรือขื่อเต็ม Contingent Convertible Bond คือหุ้นกู้แปลงสภาพโดยมีเงื่อนไข ที่ออกโดยสถาบันการเงินหรือบริษัทประกัน และหุ้นกู้ประเภทนี้มีกลไกการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญโดยอัตโนมัติ เมื่อเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (Trigger event) เช่น เมื่อสถาบันการเงินประสบปัญหาทางการเงินทำให้สัดส่วนเงินทุนปรับลงต่ำกว่าที่กำหนดไว้ โดยจะเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ที่ผู้ถือจะได้รับเงินคืนหลังจาก ผู้ฝากเงิน และเจ้าหนี้สามัญ หากธนาคารต้องเลิกกิจการ

  • มีโอกาสถูกไถ่ถอนคืนโดยธนาคาร หลังจาก 5 ปีที่ออก
  • หากธนาคารประสบปัญหาด้านการเงินจนดำเนินกิจการต่อไปไม่ได้ และทางการเข้าช่วยเหลือ หุ้นกู้จะถูกตัดลดมูลค่าหรือตัดเป็นหนี้สูญ หรือถูกแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ
  • หากเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่ำกว่า 6% เฉพาะหุ้นกู้ที่ใช้เป็นกองทุนขั้นที่ 1 จะถูกตัดลดมูลค่าหรือตัดเป็นหนี้สูบ หรือถูกแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ (จึงมีชื่อว่า Contingent Conversion หรือ CoCo Bond)
  • ในกรณีที่ธนาคารขาดทุน อาจไม่ได้รับดอกเบี้ย โดยไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้

ความเสี่ยงสูงปรี๊ด…

หุ้นกู้ CoCo Bond มีความเสี่ยงในระดับที่สูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไปเนื่องจากเป็น “ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ” (Subordinated debt) ที่เมื่อสถาบันการเงินผู้ออกตราสารมีปัญหาต้องเลิกกิจการและชำระบัญชี ผู้ถือตราสารจะได้รับสิทธิชำระเงินหลังจากเจ้าหนี้ทุกประเภท และยังมีเงื่อนไขที่สามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ หรือถูก write off (ลดมูลค่า) รวมถึงให้สิทธิผู้ออกตราสารที่จะเลื่อนหรือยกเลิกการชำระดอกเบี้ยแก่ตราสาร (Deferrable) ออกไปโดยไม่จำเป็นต้องสะสมผลตอบแทน (non-cumulative) ได้

ซึ่งทำให้บางครั้งจึงเรียกตราสารหนี้ AT1 ว่าเป็น “ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน” (Hybrid securities) และเนื่องจากตราสารที่ออกต้องมีอายุยาว (มากกว่า 5 ปี) จึงให้สิทธิธนาคารพาณิชย์ผู้ออกตราสารที่จะไถ่ถอนตราสารก่อนได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ขณะที่ผู้ถือตราสารไม่สามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดหรือเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ผู้ออกตราสารไถ่ถอนได้

จะเห็นว่าหุ้นกู้ดังกล่าวมีความเสี่ยงมากกว่าหุ้นกู้ปกติ คือ ไม่ได้รับดอกเบี้ยในปีที่ธนาคารขาดทุน หรือหากปิดกิจการจะได้รับเงินคืนหลังเจ้าหนี้อื่น และมีความเสี่ยงด้าน Reinvestment risk ที่ถูกไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดทำให้ต้องหาแหล่งลงทุนใหม่ที่อาจได้ผลตอบแทนน้อยกว่าเดิม และที่สำคัญอาจขาดทุนจากการถูกบังคับให้ลดหนี้/ตัดหนี้สูญและแปลงหนี้เป็นทุน โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ที่ต้องรับความยินยอมจากทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ ในกรณีแปลงเป็นหุ้นทำให้ต้นทุนที่แปลงอาจสูงกว่าราคาตลาด

อย่างเหตุการณ์ หุ้นกู้ AT1 ของธนาคารเครดิตสวิสที่มีการปรับลดมูลค่าหุ้นกู้จากมูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์ลงมาให้เหลือศูนย์ ตามคำสั่งของหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นไปตามแผนการควบรวมกิจการเครดิต สวิสของยูบีเอส กรุ๊ป เอจี (UBS Group AG) ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นกู้ AT1 จะสูญเสียเงินทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าความเสี่ยงนี้เป็นอย่างไร…

รู้ไหมก่อนหน้านี้ หุ้นกู้ CoCo Bond เคยเป็นสินทรัพย์ที่เคยถูกแนะนำให้ลงทุนในช่วงเงินเฟ้อพุ่งและดอกเบี้ยขาขึ้น…

ถึงแม้ว่าความเสี่ยงของหุ้นกู้ CoCo Bond จะสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้ช่วงก่อนหน้าหุ้นกู้ CoCo Bond เคยได้รับความสนใจคือ ต้องเท้าความไปก่อนว่าในช่วงก่อนหน้านี้ที่ยังไม่เกิดวิกฤตทางสภาพคล่องของธนาคารต่าง ๆ ความเชื่อมั่นที่ว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวและพื้นฐานกลุ่มธนาคารผู้ออกตราสารอยู่ในระดับแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก ทำให้โอกาสที่ธนาคารจะไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือชำระคืนเงินต้นนั้นลดลง

ทั้งนี้ความเสี่ยงด้านราคาน้อยกว่า เนื่องจาก CoCo Bond เป็นหุ้นกู้ที่จ่าย Coupon หรือจ่ายดอกเบี้ยสูง ในขณะที่มีโอกาสถูกไถ่ถอนคืนก่อนครบกำหนด ทำให้มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของบอนด์ยีลด์น้อยกว่าหุ้นกู้ประเภทอื่น ๆ

นั้นทำให้ในช่วงที่ก่อนหน้านี้หุ้นกู้ CoCo Bond เป็นสินทรัพย์ที่เคยถูกแนะนำให้ลงทุนได้จากเศรษฐกิจที่ฟื้นและธนาคารของโลกที่ยังมีความแข็งแกร่ง แต่ปัจจุบันนักลงทุนอาจรู้สึกกังวลเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามก็เป็นความเสี่ยงสำหรับคนที่ลงทุนในหุ้นกู้ CoCo Bond ต้องรับรู้ไว้เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ซึ่งในระยะยาวความน่าสนใจและความเชื่อมั่นในการลงทุนต่อหุ้นกู้ AT1 อาจลดน้อยลง เนื่องจากความเสี่ยงที่สูงมาก เพราะอาจจะไม่ได้รับเงินต้นคืน

มีสัดส่วนหุ้นกู้ เครดิตสวิสในกองไทยสูงสุดแค่ 5%

สำหรับนักลงทุนในไทย แม้ว่าข้อมูลจาก Bloomberg พบว่า มีกองทุนต่างประเทศ (FIF) ที่มีการลงทุนในหุ้นกู้ AT1 ของกองทุนไทย อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยกองทุนที่ลงทุนหนักสุด ก็ยังมีสัดส่วนหุ้นกู้ Credit Suisse แค่ 5% ของสินทรัพย์ในกองเท่านั้น รวมกันทั้งหมด 23 กองทุน ได้แก่

  • SCBOPP ลงทุนในกองหลัก GAM Star Credit Opportunities สัดส่วน 5.00%
  • KT-CSBOND-A ลงทุนในกองหลัก PIMCO GIS Capital Securities Fund สัดส่วน 4.53%
  • SCBGSIFUND ลงทุนในกองหลัก PIMCO Global Investment Grade สัดส่วน 1.54%
  • KF-TRB ลงทุนในกองหลัก PIMCO Total Return Bond Fund สัดส่วน 1.24%

กองทุนที่ลงทุนในกองหลักเดียวกันคือ PIMCO GIS Global Bond Fund สัดส่วน 1.17% ได้แก่

  • KT-BOND
  • KT-BOND RMF
  • TMBGDF
  • T-ES-GF
  • TMBGF
  • TMBGRMF

และลงทุนในกองหลัก PIMCO GIS Income Fund สัดส่วน 0.97% ได้แก่

  • SCBINC
  • UGIS
  • KF-CSINCOM
  • KFSINCRMF
  • PRINCIPAL GFIXED
  • LHGINCOME
  • TMBGINCOME
  • TMBGINCOMERMF

นอกจากนี้ยังมีกองทุนที่มีสัดส่วนลงทุนน้อยมาก ได้แก่

  • กองทุน KFDIVERS-A ลงทุนในกองหลัก PIMCO GIS Diversified Income Fund สัดส่วน 0.78%
  • T-ES-GSBOND และ TMB-ES-GSBOND ลงทุนในกองหลัง JPMorgan Funds-Income Fund สัดส่วน 0.32%
  • SCBGLOB ลงทุนในกองหลัก T. Rowe Price Global Aggregate Bond Fund สัดส่วน 0.07%