ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย ก.พ.ดีขึ้นทุกตัว แนวโน้ม มี.ค.ฟื้นต่อเนื่อง

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ.ดีขึ้นทุกตัว “ส่งออก-ลงทุน-บริโภค-ตลาดแรงงาน-เงินเฟ้อ-ดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกเกินดุล” มองแนวโน้ม มี.ค.ฟื้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการ-ผลิต ติดตาม 4 ปัจจัยมีผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย

วันที่ 31 มีนาคม 2566 นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ. 2566 ยังคงมีทิศทางที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องในทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นตัว external demand ที่ทำให้การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้น โดยมีมูลค่าส่งออก 22 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.8% จากเดือนก่อน (MOM) แต่ยังหดตัว -1.8% จากปีก่อน (YOY)

ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นในเดือน ก.พ. หลัก ๆ มาจากสินค้าเกษตรแปรรูป โดยปรับเพิ่มขึ้นจากการส่งออกน้ำตาลไปยังประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ การส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปประเทศอินเดีย การส่งออกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ มีการปรับเพิ่มขึ้นตามรอบการส่งสินค้าของสินค้าฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าความเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน มีการปรับเพิ่มขึ้นตามการส่งออกของพลาสติก

ทั้งนี้การส่งออกที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.5% MOM โดยหมวดที่เพิ่มขึ้นชัดเจนคือเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นการทยอยฟื้นตัวของการผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ สังเกตเห็นอุปสงค์มาจากจีนและภายในประเทศ หมวดปิโตรเลียมที่มาจากการขยายการผลิตและการฟื้นตัวกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์มีการปรับเพิ่มขึ้นตามรอบการส่งมอบสินค้าที่มักเกิดขึ้นในช่วงเดือนที่ 2 และ 3 ของไตรมาส

นายสักกะภพกล่าวต่อว่า ในส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น 2% MOM หลัก ๆ มาจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยปรับเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าคอมพิวเตอร์และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และการเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายเครื่องจักรอุปกรณ์ในประเทศด้วย รวมไปถึงยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ปรับตัวดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลหรือรถกระบะ และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้, รถสองแถว)

ทั้งนี้การเพิ่มขึ้น เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนสอดรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50% เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นทั้งในแง่ของผลประกอบการ คำสั่งซื้อ และการจ้างงาน โดยหมวดที่เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษคืออสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบระบุว่านักลงทุนจีนที่เริ่มทยอยกลับเข้ามา เห็นการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น

ในส่วนการบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดรับภาคผลิตและการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 0.4% MOM

ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว โดยหมวดสินค้าคงทน มาจากยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เริ่มมีการส่งมอบตามคำสั่งซื้อในช่วงก่อนหน้า เช่น EV ที่มีการส่งมอบรถรุ่นใหม่ และหมวดสินค้ากึ่งคงทน มาจากการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงยอดขายปลีกสินค้าต่าง ๆ ด้วย และหมวดบริการเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรงแรม

ตลาดแรงงานโดยรวมยังมีการพัฒนาที่ดีต่อเนื่อง “ทรงตัวจากเดือนก่อน” ผู้ประกันตน ม.33 อยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจต่อเนื่อง ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว

ด้านกิจกรรมในภาคบริการก็ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยในเดือน ก.พ.มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 2.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.1% MOM โดยเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย

รวมไปถึงโดยภาพรวมนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่นปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งญี่ปุ่น, เกาหลี, รัสเซีย, สหรัฐ เป็นต้น และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องตามความสามารถในการรองรับตามเที่ยวบิน โรงแรม และร้านอาหาร

“ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เรามีช่วงครึ่งเดือน มี.ค.เฉลี่ยอยู่ที่ 7.6 หมื่นคนต่อวัน ปรับดีขึ้นจากค่าเฉลี่ยในเดือน ก.พ.ที่อยู่ที่ 7.3 หมื่นคนต่อวัน”

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐไม่รวมเงินโอนขยายตัว 4.9% YOY ตามรายจ่ายประจำขยายตัว 22.5% มาจากการจัดสรรของงบประมาณและการเบิกจ่ายค่าบำเหน็จบำนาญค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 132% ในแง่การเบิกจ่ายโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน และโครงการสาธารณูปโภค

นายสักกะภพกล่าวอีกว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไทยในเดือน ก.พ.อยู่ที่ 3.79% ลดลงจากเดือน ม.ค.ที่ประมาณ 5.02% เป็นการปรับลดลงทุกองค์ประกอบ โดยเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.93% ลดลงจากเดือน ม.ค.ที่ประมาณ 3.04% หลัก ๆ น่าจะเป็นผลของฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน

เพราะช่วงเดือน ก.พ. 2565 มีการระบาดในหมู ส่งผลให้อาหารสำเร็จรูปมีการปรับสูงขึ้นด้วย โดยระดับของราคาอาหารสำเร็จรูปยังปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.จากต้นทุนที่ยังสูงอยู่

ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.พ. 2566 เกินดุลอยู่ที่ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมาจากดุลการค้าเป็นสำคัญ ทั้งนี้เป็นการกลับมาเกินดุลจากเดือน ม.ค.ที่มีการขาดดุล ส่วนดุลการชำระเงินติดลบ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนหนึ่งจากโฟลว์ต่างชาติที่มีการไหลออกจากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางหลัก และปัญหาสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐและยุโรป

ในส่วนทิศทางค่าเงินบาทในเดือน ก.พ.เฉลี่ยอยู่ที่ 34.05 บาท อ่อนค่าลง 2.45% ตามการปรับเพิ่มคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งมีผลต่อเนื่องในต้นเดือน มี.ค. ทำให้เงินบาทยังอ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ -1.48% อย่างไรก็ดีเริ่มมีความกังวลว่าเฟดไม่สามารถจะปรับดอกเบี้ยได้เร็วจากที่ตลาดคาด จากเรื่องความกังวลสถาบันการเงินที่มีปัญหา ทำให้ค่าเงินบาทในช่วง 2 สัปดาห์หลังของเดือน มี.ค.กลับมาแข็งค่า

นายสักกะภพกล่าวเพิ่มว่า มองว่าในเดือน มี.ค. 2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารปรับตัวดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และกิจกรรมนอกบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน นอกจากนี้ภาคการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นจากคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศของกลุ่มการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์

โดยประเด็นที่ต้องติดตามที่อาจจะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยคือ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรปว่าจะมีการลุกลามมากน้อยขนาดไหน และผลการเปิดประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน รวมไปถึงการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจจะมีการอั้นไว้ในช่วงที่ผ่านมา ว่าจะมีผลต่อกำลังซื้อมากน้อยขนาดไหน