ธปท.ปรับจีดีพีปี’66-67 โตลดลง เหตุเงินเฟ้อสูงค้างนาน-โลกเสี่ยง

นายปิติ ดิษยทัต
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ธปท. ปรับประมาณการจีดีพีปี’66 โต 3.6% จากเดิมคาด 3.7% และปีหน้าคาดโต 3.8% จากเดิม 3.9% เหตุส่งออกมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ขณะที่เงินเฟ้อคาดกลับเข้ากรอบกลางปีนี้แต่ค้างสูงนาน-ภาคธุรกิจยังส่งผ่านต้นทุนไม่หมด

วันที่ 29 มีนาคม 2566 นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการประชุมนโยบายการเงิน ครั้งที่ 2/2566 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.6% และ 3.8% ในปี 2567 โดยการประชุมรอบนี้มีการปรับตัวเลขใหม่ จากเดิมปี 2565 คาดว่าจะโตได้ 3.7% และ ปี 2567 คาดว่าจะโตได้ 3.9% ถือว่าโตใกล้เคียงเดิม

ทั้งนี้ แรงส่งสำคัญมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ดีขึ้นกว่าที่ กนง.เคยประเมินไว้ โดยนักท่องเที่ยวเกือบทุกสัญชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน รวมถึงเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน ทำให้ ธปท. ปรับประมาณการนักท่องเที่ยวปีนี้เพิ่มเป็น 28 ล้านคน จากเดิมคาด 25.5 ล้านคน และปีหน้าเป็น 35 ล้านคน จากเดิมคาด 34 ล้านคน

ขณะที่การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า โดยคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก

“เครื่องชี้เศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุด ในเดือน ก.พ. เกือบทุกองค์ประกอบมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และถ้ามองในภาพรวมเศรษฐกิจก็ฟื้นถึงจุดก่อนเกิดโควิดแล้ว ณ ตอนนี้ และมองไปข้างหน้าก็คิดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยแรงส่งก็ค่อนข้างดี ถ้าเทียบประมาณการ ซึ่งรอบนี้มีปรับใหม่ แต่ก็ใกล้เคียงเดิม” นายปิติกล่าว

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2566 โดยจะอยู่ที่ 2.9% จากเดิมคาด 3% ในปี 2566 และ 2.4% จากเดิมคาด 2.1% ในปี 2567 ตามลำดับ ตามแรงกดดันด้านอุปทานจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงจากปี 2565 มาอยู่ที่ 2.4% ในปี 2566 ก่อนจะทยอยปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.0% ในปี 2567

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง อีกทั้งมีแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

“จากการสำรวจภาคธุรกิจพบว่า ยังไม่ได้ส่งผ่านต้นทุนอย่างเต็มที่ ยังมีหลายเจ้ายังไม่ได้ส่งผ่าน และมีโอกาสจะส่งผ่านอีกในระยะหน้า คณะกรรมการ กนง. จึงเห็นควรให้ติดตามเงินเฟ้อต่อไป” นายปิติกล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุม กนง. ที่ประชุมเป็นครั้งที่ 2 ของปี 2566 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ต่อปี จาก 1.50% ต่อปี เป็น 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องมาแล้ว 5 ครั้ง นับตั้งแต่ปลายปีก่อน

ธปท.

ธปท.