ธปท.ประกาศขยายอายุมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู-สินเชื่อเพื่อการปรับตัวไปอีก 1 ปี ถึง 9 เม.ย. 67 หนุนให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือต่อเนื่อง ระบุยอดปล่อยสืนเชื่อทั้งสิ้น 2.22 แสนล้านบาท พร้อมปิดโครงการพักทรัพย์พักหนี้
วันที่ 21 มีนาคม 2566 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท.ได้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 และติดตามผลการดำเนินมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง
โดยความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 13 มี.ค. 2566 ธปท.ได้อนุมัติมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู (รวมสินเชื่อเพื่อการปรับตัว) ให้แก่ลูกหนี้แล้วจำนวน 61,073 ราย รวมทั้งสิ้น 222,324 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 90% ของวงเงินที่ตั้งไว้ ซึ่งมีการกระจายตัวดีทั้งระดับขนาด ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค และยังมีวงเงินคงเหลือ 27,676 ล้านบาท
นอกจากนี้ ได้อนุมัติสินเชื่อโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ให้แก่ลูกหนี้ 476 ราย รวมยอดสินทรัพย์ที่ตีโอนทั้งสิ้น 72,057 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72 ของวงเงินที่ตั้งไว้ และยังมีวงเงินคงเหลือ 27,943 ล้านบาท โดยมาตรการทั้งสองจะครบกำหนด 2 ปี ในวันที่ 9 เม.ย. 2566 นี้
ทั้งนี้ แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวเข้าใกล้ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในภาคบริการบางสาขาที่ยังมีกิจกรรมในระดับต่ำ ดังนั้น ธปท.ร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จึงเห็นควรดำเนินการ ดังนี้
(1) ขยายระยะเวลามาตรการสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงสินเชื่อเพื่อการปรับตัวต่อไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 9 เม.ย. 2567 เพื่อให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจที่ต้องการปรับตัว
(2) ไม่ขยายอายุโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม เริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศแล้ว อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ยังสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินได้
(3) โอนวงเงินคงเหลือของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการ มารวมไว้เป็นวงเงินภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูต่อไป ซึ่งจะทราบวงเงินคงเหลือดังกล่าวในวันที่ 9 เม.ย. 2566
ธปท.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การขยายเวลาให้กับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัวในครั้งนี้ จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับสภาพคล่องและความช่วยเหลือเพิ่มเติม ตลอดจนเอื้อต่อการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้สอดรับกับ new normal ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ต่อเนื่อง