
คอลัมน์ : Politics policy people forum
นาทีนี้ถึงคราวที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย เฟส 2 ขับเคลื่อนนโยบายเต็มกำลัง หลังการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)
หลังจาก ครม.เศรษฐา 1/2 เข้าประจำการ จะเห็นว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แบ่งงาน-กระจายอำนาจการขับเคลื่อนไปสู่บรรดารองนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ภายใต้พรรคเพื่อไทย แบบเต็มอัตรา
ภารกิจ 3 รองนายกฯ
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กำกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
“ภูมิธรรม” นักยุทธศาสตร์ประจำพรรคเพื่อไทย ยังสวมบทรองนายกฯ คนที่ 1 ขับเคลื่อนงานนโยบายด้านเศรษฐกิจ ควบคู่กับนโยบายด้านการเมือง เช่น การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม กำกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (รวมทั้งราชการของราชบัณฑิตยสภา)
“สุริยะ” คนสำคัญของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่เจรจาตั้งรัฐบาล เข้ามานั่งรองนายกฯ แทน “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ที่ขยับไปเป็น รมว.สาธารณสุข เพราะมีภารกิจใช้ความเป็น “นักการเมืองเขี้ยวลากดิน”
ประสานงานกับบรรดา “หมอ” ในกระทรวงขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ที่ขีดเส้นให้ลุล่วงในสิ้นปี 2567
“พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ และ รมว.คลัง รับผิดชอบกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงบประมาณ
ในฐานะที่มีความรู้ความสามารถด้านการบริหาร การบัญชี มีเครือข่ายแนบแน่นกับวงการธุรกิจชั้นแนวหน้า ก่อนมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรี เขาเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งสำคัญในบริษัทยักษ์ใหญ่ มาแล้วนับสิบแห่ง
เมื่อมาเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หลังพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เขาก็มีส่วนเข้าไปรับรู้นโยบายสำคัญ อย่างโครงการแจกเงิน 10,000 ผ่านดิจิทัลวอลเลต อันเป็นนโยบาย “เรือธง”
เมื่อเขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังอยู่ภายใต้พรรคเพื่อไทยอย่างเบ็ดเสร็จ ภารกิจที่ต้องทำคือ เดินหน้านโยบายแจกเงิน 10,000 ให้ราบรื่น
นอกจากตำแหน่งรองนายกฯ ที่พรรคเพื่อไทยปรับบทบาท ยังเสริมทัพด้วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 3 ตำแหน่ง จากเดิม ครม.เศรษฐา 1 ตำแหน่งดังกล่าวมีแค่ พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ที่เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เพียงคนเดียว
ตามนโยบาย-งบประมาณ
“จักรพงษ์ แสงมณี” ย้ายจากกระทรวงการต่างประเทศ มาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้รับมอบหมายให้ดูแล สำนักงบประมาณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และสำนักงานรัฐบาลพัฒนาดิจิทัลฯ
โปรไฟล์เขาเคยทำธุรกิจโลจิสติกส์ เขาเข้ามาอยู่พรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ปี 2552 ช่วยแม้กระทั่งว่าหาข้อมูล
“ทำงานอยู่อย่างนี้มา 1 ปีเต็ม ใครให้ทำอะไรก็ทำ ไม่เคยเลือกงาน ถ้าผู้ใหญ่สั่งคือจบ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ อาจไม่ถนัดก็อย่าว่ากัน แต่ว่าทำ จากนั้นเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรค มี ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช คุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์”
2554 ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคครั้งแรก และได้อยู่ทีมหาเสียงของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พอพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง จึงได้ไปเป็นที่ปรึกษารองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ (กิตติรัตน์ ณ ระนอง) ดูเรื่องการค้าขายต่างประเทศ
“อยู่กระทรวงพาณิชย์ได้เห็นขั้นตอนว่าจะทำอย่างไร พอมาอยู่กระทรวงการคลัง ได้ช่วยในส่วนที่เป็นเรื่องการจ่ายเงินและการกู้เงิน เป็นประสบการณ์ที่ดี ทำให้เรามีความคิด มีระบบความคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้น ผู้ใหญ่ทุกคนอยู่และเรียนรู้กับแต่ละท่านเราก็จะได้ประสบการณ์” เขาเล่าแบ็กกราวนด์ชีวิต
ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 2562 พรรคเพื่อไทยส่งเขาไปประกบ “เศรษฐา ทวีสิน” ที่เข้ามาเริ่มต้นการเมือง “จักรพงษ์” กลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทำงานเข้าขา-รู้ใจนายกฯ คนที่ 30 เมื่อปรับ ครม.เขาจึงขยับมาช่วยติดตามงาน-นโยบายของพรรคเพื่อไทย และดูเรื่องงบประมาณ
ภารกิจสางทุกข์ชาวบ้าน
“พิชิต ชื่นบาน” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กำกับดูแล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)
ก่อนหน้านี้ “พิชิต” เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในบทบาทรับคำปรึกษาของนายกฯ ตรวจแฟ้ม ครม. ตรวจร่างมติ ครม. รวมถึงดูเรื่องกฎหมายเสนอนายกรัฐมนตรี ก่อนนำเข้าสู่ ครม.
พิชิตบอกว่างานของเขาก็ยังคล้ายเดิมในฐานะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
งานแรกที่เขาประกาศลงมือคือ แปลงโฉมศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของทำเนียบรัฐบาล สายด่วน 1111 ให้เป็น “ทำเนียบช่วยได้”
“นั่งรถเข้าทำเนียบทุกวัน เราเห็นป้าย 1111 รับเรื่องร้องทุกข์ของรัฐบาล แต่ก็ยังมีประชาชนที่เดือดร้อน และต้องไปพึ่งภาคเอกชน หรือนักร้องต่าง ๆ จึงมีความคิดเพิ่มมิติของภาครัฐในการช่วยเหลือประชาชน จึงชุบชีวิตศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของทำเนียบรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน รวมถึงการแจ้งเบาะแสอาชญากรรมทุกรูปแบบ ให้สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ”
นอกจากนี้ พิชิตยังทำหน้าที่ติดตาม “ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี” ที่สั่งการในที่ประชุม ครม. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของประชาชน เพราะเขาเห็นว่าถ้าไม่มีความจำเป็น นายกฯไม่ใช้อำนาจ สั่งการตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 มาตรา 11 มาใช้ “พิชิต” เตรียมใช้คอนเน็กชั่นที่รู้จักกับบรรดารัฐมนตรีเจ้ากระทรวงช่วยสางปัญหาให้กับประชาชนเป็นรูปธรรม
เคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์
“จิราพร สินธุไพร” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กำกับดูแล กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
เป็น สส.ร้อยเอ็ด 2 สมัย ถูกดึงเข้ามาเป็นรัฐมนตรี นอกจากอยู่ในกลุ่มโควตาอีสาน ยังมีภาพลักษณ์ “คนรุ่นใหม่” จึงถูกดึงเข้ามาดูแลด้านการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของรัฐบาล โปรเจ็กต์ที่เข้ามาและต้องทำทันทีคือ ร่วมดีไซน์รูปแบบรายการ นายกฯ พบประชาชน
ยังต้องขับเคลื่อนนโยบายเรือธง อย่างนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ดันให้มีรายได้ 2 แสนบาทต่อปี จะเปิดลงทะเบียนมิถุนายนนี้ พร้อมกับยกระดับทีวีของรัฐ อย่าง NBT ให้ทันสมัย ส่งเสริมนโยบายซอฟต์พาวเวอร์
รัฐมนตรีเพื่อไทยขณะนี้มีอยู่ 18 คน อยู่ในทำเนียบรัฐบาล เป็นลมใต้ปีก “เศรษฐา” ถึง 6 คน ขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกทุกมิติ ทั้งดิจิทัลวอลเลต-ซอฟต์พาวเวอร์-กองทุนหมู่บ้าน-30 บาทรักษาทุกที่