ทิศทางสตาร์ทอัพ ในวันที่ถูกท้าทายมากขึ้น ประชาชาติเวลท์ คุยกับ ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ถึงทิศทางการลงทุนในสตาร์ทอัพ และการเลือกธีมที่เหมาะสม
วันที่ 17 เมษายน 2566 ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ค่อนข้างมีความท้าทายในบริษัทสตาร์ตอัพทั่วโลก ในแง่ของการระดมทุนที่ชะลอตัวลงอย่างมาก สะท้อนจากกรณีของ silicon valley bank ที่เป็นจุดอ่อนแอของอุตสาหกรรมสตาร์ตอัพในฝั่งสหรัฐ
วันนี้ Prachachat Wealth เล่าเรื่องการลงทุน ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ “คุณตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จิตตะ ดอทคอม จำกัด สตาร์ตอัพฟินเทคของประเทศไทย ว่าแนวโน้มผลกระทบที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วจะกระทบลามมาถึงปีนี้หรือไม่
Q: สัญญาณการระดมทุนของเหล่าสตาร์ตอัพที่ชะลอตัวลงเมื่อปีที่แล้ว ภาพปีนี้เทรนด์ยังเป็นแบบนั้นมั้ย?
จริง ๆ ก็จะเป็นเทรนด์ต่อเนื่องจากปีที่แล้วครับ จากที่เราเห็นปีที่แล้วจะมีเรื่องของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และก็ดอกเบี้ยที่ปรับตัว และก็จนล่าสุดถ้าเรามองภาพใหญ่ เราจะเห็นว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ ก็มีผลกับระบบธนาคารของสหรัฐ มี regional bank 3 แห่ง ที่ล้มลง และก็โดยเฉพาะอย่าง silicon valley bank ชื่อก็บอกว่าอยู่แล้วว่าอยู่ silicon valley และก็เป็นแบงก์ที่ venture capital (VC) ไปฝากเงิน สตาร์ตอัพหลายๆ แห่ง ก็ไปฝากเงินลงทุน
เพราะฉะนั้นในภาพนี้ถือเป็นลูกโซ่มา มูลค่าของการระดมทุนต่าง ๆ ของ VC ก็เริ่มลดลง ตั้งแต่ปี 2021 มาปี 2022 และก็ในปี 2023 ก็คิดว่าแนวโน้มก็จะลดลงเช่นเดียวกัน
นอกเหนือจากการระดมทุนที่จะยากขึ้นแล้ว สำหรับสตาร์ตอัพต่าง ๆ ถ้าใครที่ระดมทุนมาแล้ว ทาง VC ค่อนข้างมีเงื่อนไขอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเรายังไม่เป็นสตาร์ตอัพที่ทำกำไร ก็คือพยายามให้เราลดต้นทุน หรือบางครั้งอาจจะลดคน เราก็เลยเห็นว่าหน้าข่าวปัจจุบัน ไม่ใช่แค่สตาร์ตอัพด้วย บริษัทเทคใหญ่ ๆ ก็เริ่มมีการเลิกจ้าง (Lay-Off) คนไปเรียบร้อยล่ะ
จริง ๆ มันสืบเนื่องจากปัญหาเมื่อหลายปีก่อนที่ตัวเทค สตาร์ตอัพ บูม ๆ ทั้งหมด ไม่ว่าบริษัทใหญ่ บริษัทเล็ก มีการว่าจ้างคนเยอะมาก เขาเรียกว่า over hiring ก็คือเรียกว่ายังไม่มีงานที่จำเป็น ก็เอามาก่อนแล้วกัน เพาะเรากลัวว่าเดี่ยวพอมีงานจะไม่มีคน
แล้วก็แย่งตัวกันไปหมดเลย เพราะว่าบริษัทใหญ่ก็มีเงิน บริษัทเล็กที่เป็นสตาร์ตอัพก็ระดมทุนได้เยอะ ก็พยายามจะแย่งคนกัน ก็เกิดปัญหา over hiring และก็ infected salary คู่กัน
เพราะฉะนั้นในปัจจุบันทาง VC ก็ตัดสินใจว่าถ้าคุณยังไม่กำไร คุณเริ่มลดต้นทุนได้ล่ะ คุณต้องปลดคนออก ส่วนคนที่อยู่ในเฟสระดมทุน VC เขาก็จะมองหาเรื่องของ sustainable business model ที่มากขึ้นว่าโมเดลรายได้ (revenue model) คุณเป็นไง business model คุณจะเป็นยังไง คุณจะมีแผนการทำกำไรเมื่อไหร่
ถ้าเป็นเมื่อประมาณ 5-10 ปีที่แล้ว จริง ๆ VC อาจจะมองว่าuser คุณจะโตไปที่ไหน market size คุณเท่าไหร่ จะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องของ business model หรือการทำกำไรมาก
สตาร์ตอัพอีคอมเมิร์ซ รัดเข็มขัด
แต่ปัจจุบันตรงนี้ก็จะเน้นหนักมากขึ้น เพราะฉะนั้นก็มองว่าปีนี้จะยังต่อเนื่องจากปีที่แล้วครับ การระดมทุนก็จะยังยากขึ้นต่อเนื่อง สตาร์ตอัพที่กำลังเติบโต ก็ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องของการบริหารเงินสดที่ดี และถ้าเป็น industry ที่เดือดระดับหนึ่ง เช่น อีคอมเมิร์ซ มีการ burn เงินเยอะแยะมากมาย ก็น่าจะต้องรัดเข็มขัดและหาให้เจอแล้วว่าตัวเองจะต้องเจาะลูกค้ากลุ่มไหน
ตัวความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ของเราคืออะไร เพื่อให้เราสามารถอยู่ร่วมกันใน industry ได้ เบอร์ 1 เบอร์ 2 ก็ยังจะพอโตไปได้ ไม่ใช่แบบห้ำหั่นกันเอง
Q: ปีนี้ unicorns หน้าใหม่ ๆ อาจจะยังไม่ค่อยได้เห็นมากนัก ถูกมั้ย?
จริง ๆ ก็ต้องบอกว่ายังพอมีครับ แต่ก็คงจะน้อยกว่าเมื่อหลาย ๆ ปีที่แล้ว เพราะอย่าลืมว่าคำว่า unicorns จริง ๆ มันบอกอย่างเดียวก็คือ มูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญ อาจจะไม่มีรายได้เลยก็ได้ หรืออาจจะมีรายได้แต่ขาดทุนหลายพันล้านเหรียญก็ได้ เพราะฉะนั้นอาจจะมีการเห็นยากขึ้น แต่ก็น่าจะยังมีอยู่ และก็จะเป็น unicorns ที่ค่อนข้างเข้มแข็ง (solid) จริง ๆ ล่ะ ไม่ใช่ unicorns ที่จะกำไรเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ซึ่งเราจะเห็นว่า unicorns เหล่านั้น ก็ล้มไปหลายอันล่ะ อย่างเช่น Ofo เช่าจักรยานของจีน หรือว่าแม้กระทั่ง WeWork ที่เป็น unicorns เตรียมเข้า IPO แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว (fail) จนได้ แบบนั้นนะครับ
Q: เทรนด์ธุรกิจสตาร์ตอัพ ธุรกิจไหนที่กำลังมาแรง และอยู่ในธุรกิจประเภทไหนที่จะตอบโจทย์คนยุคนี้กับยุคอนาคต?
ถ้ามองว่าในเรื่องของกำลังมาแรง และเป็นสิ่งที่คนและ VC ให้ความสนใจละกัน ก็คือจะต้องเป็นสตาร์ตอัพปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั่วไปล่ะ บางอย่างที่ฟุ้งเฟ้อเกินไปอาจจะค่อนข้างยากล่ะ ที่เหมือนVC รู้สึกจับต้องไม่ได้ สมมุติอะไรที่เกี่ยวกับ metaverse อาจจะดูเริ่มยากแล้ว เขาไม่แน่ใจ
แต่ว่าสตาร์ตอัพที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ เช่น พวก healthtech ก็ยังได้รับความสนใจต่อเนื่อง เพราะเขามองว่าปัจจุบันช่วงหลังโควิด คนต้องการการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นและเป็น personalize มากขึ้น เฉพาะตัวมากขึ้น ในต่างประเทศเราจะเห็นมี healthtech หลาย ๆ อัน ก็มี IPO ไปแล้วนะครับ มีทั้งอุปกรณ์ติดตามตัว
หรือว่าล่าสุดฝั่ง health ที่มาแรงด้วยก็คือ meditation คล้าย ๆ กับเป็นแอป แล้วมีบอกเวลา บอกวิธีการเพื่อให้จิตใจสงบ เขาเรียกว่าเป็น mindfulness ทั้งหมดไม่ใช่แค่รักษาร่างกาย รักษาจิตใจด้วย
เพราะหลังจากโควิดมา คนเรา work from home มีความเครียดที่สูงขึ้น บางคนไม่ได้ออกไปเจอใครเลยใช้ชีวิตอยู่แต่ออนไลน์ ตรงนี้พวกนี้ก็เข้ามาช่วย
fintech ก็ยังมาแรงอยู่ เพราะว่าคนเรากระจัดกระจาย แต่ธุรกรรมการเงินจะต้องมีตลอด ไม่ว่าเราจะอยู่บ้านหรืออยู่ที่ไหน เราซื้อของผ่านออนไลน์พวกนี้ เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีเกี่ยวกับ fintech ก็กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ถามว่า fintech โตมาเรื่อย ๆ มั้ย ก็โต แต่ส่วนมากจะโตสาขา payment เพราะว่าไปเป็นเบื้องหลังของเว็บอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ หรือคลาวด์ software as a service ต่าง ๆ ที่เราจ่ายเงินออนไลน์นะครับ
แต่ว่าคนยังไม่ค่อยได้ใช้ fintech ในแง่อื่น ๆ เช่น พวก wealth ประกัน เพราะคนรู้สึกว่าเชื่อถือได้หรือเปล่า ไม่ค่อยให้ความมั่นใจ แต่พอเป็นยุคหลังโควิด คนกล้าที่จะให้ robo advisor บริหารเงินลงทุน ซื้อประกันที่เป็นออนไลน์ เพื่อ protection ตัวเอง เพราะฉะนั้นตัว fintech ตรงนี้ก็กำลังมาแรง
และอีกอันหนึ่งก็จะเป็น foodtech ที่เขาก็ คาดการณ์ (predict) กันว่าในอนาคต resource หรืออาหารก็คงไม่พอประชากรโลก เพราะฉะนั้นหลาย ๆ แห่ง ก็เลยต้องคิดวิธีการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรกรรมปศุสัตว์ หรือว่าที่เราจะเห็นมีเนื้อสังเคราะห์ มีไข่สังเคราะห์ หรือมีอะไรเพื่อจะทำให้ทุกอย่าง generate จากใน lab แล้วมาเป็นอาหารให้มนุษยชาติในอนาคตได้นะครับ
Q: อยากให้แนะนำลงทุนว่าโอกาสการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ หรือว่าหุ้นเทคโนโลยี นักลงทุนควรเริ่มต้นยังไง และจิตตะ เวลธ์ มีธีมในการจัดพอร์ตการลงทุนอย่างไรบ้าง?
ได้ครับ ก็คือจริง ๆต้องบอกว่าถ้าเป็นนักลงทุนทั่วไป ผมว่าการลงทุนในกลุ่มสตาร์ตอัพ ที่เป็นแบบพวกระยะแรก (early stage) ซีรีส์ A ซีรีส์ B น่าจะยากนะครับ และมีความเสี่ยงสูงมาก
สำหรับคนทั่วไปก็คิดว่ามาลงทุนในพวกสตาร์ตอัพที่ mature ระดับหนึ่ง ก็คือมีการ listed มีการ IPO แล้วซึ่งปัจจุบันเราสามารถเลือกลงทุนได้หลากหลายมาก เพราะว่าในต่างประเทศจะมี ETF ที่เป็นธีมต่าง ๆเช่น ธีมเทคโนโลยี ธีม healthtech ธีม genomics ธีม cloud computing ธีม fintech ธีม game esport ธีม Ai พวกนี้เราสามารถเลือกลงได้
และ ETF เหล่านี้ ก็จะไปลงหุ้นในกลุ่มนี้ สมมุติลงโรโบติกส์ เอไอ เขาก็จะไปลงในสตาร์ตอัพที่ IPO แล้วเพราะฉะนั้นมั่นคงหน่อย
ถ้าเป็นจิตตะ เวลธ์ เองปัจจุบันเราก็มีนโยบายการลงทุนที่เป็น thematic ซึ่งนักลงทุนสามารถมาเลือกธีมที่เป็นเมกะเทรนด์เทคต่าง ๆ เพื่อเลือกลงทุนได้ หรือว่าจะให้ทางเอไอของจิตตะ ช่วยเลือกธีมและปรับพอร์ตให้ก็ได้นะครับ อันนี้นักลงทุนก็เข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.jittawealth.com ได้เลยครับ