หอการค้า ดึง 6 พรรคการเมือง โชว์กึ๋นนโยบาย “ปฏิรูปภาษี”

สัมมนาหอการค้า

หอการค้า ดึง 6 พรรคการเมือง นำเสนอนโยบาย “ปฏิรูปภาษีเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการกฎหมายภาษี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในการจัดเสวนาคณะกรรมการกฎหมายภาษี “Thailand 5.0 ปฏิรูปภาษีเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และอนุกรรมการกฎหมายภาษี ทั้ง 3 กรม คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เห็นว่าในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเวลาอันใกล้นี้ ปัญหาภาษียังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศในเชิงโครงสร้างในการจะหารายได้มาเพื่อพัฒนาประเทศ การรับฟังนโยบายพรรคการเมืองเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างภาษีของประเทศไทย จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนา มีรายได้มั่นคงและยั่งยืนได้

“ผู้ประกอบการภาคเอกชนเห็นว่า การได้รับฟังนโยบายในอนาคตของพรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาล จะมีนโยบายภาษีใดบ้างที่จะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยรายได้ภาษีที่จะมาในอนาคตจะต้องตอบโจทย์ในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม การลดความเหลื่อมล้ำ และต้องมีความโปร่งใสในการกำกับกิจการที่ดี เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง”

ศิริกัญญา

พรรคก้าวไกล

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลยึดโยง 4 หลักการที่จะจัดการเรื่องของภาษี คือ 1.ความเพียงพอของรายได้ 2.มีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้ต้นทุนการจัดเก็บน้อยที่สุด 3.มีความเป็นธรรม และ 4.ง่ายต่อการจัดเก็บ โดยการส่งเสริมในการทำธุรกิจ ESG ที่ให้ผู้ประกอบการลดการปล่อยคาร์บอน หรือปรับปรุงเทคโนโลยีที่ทำให้ใช้พลังงานลดลง จะให้หักค่าใช้จ่ายได้ 1.2-2 เท่า

ส่วนการสนับสนุนให้ประชาชนลดขยะพลาสติก จะเก็บภาษีถุงพลาสติก นำเงินที่ได้เข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ในส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พรรคก้าวไกล ยังไม่มีการใช้มาตรการทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่ดูแลสิ่งแวดล้อม แต่ก็มองว่าเป็นแนวคิดที่ดี

ด้านการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ พรรคก้าวไกลคิดว่าไม่ควรเก็บ แต่เห็นว่าควรเก็บภาษีจากกำไรที่ได้จากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งไม่ใช่การเก็บจากธุรกรรม เพื่อความเป็นธรรม โดยมุ่งเก็บรายใหญ่ที่เป็น Big lot ที่อาจจะมีการไปซื้อขายนอกตลาดก่อน แล้วมีการใช้ช่องทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อหลบเลี่ยงภาษี ดังนั้นรายย่อยไม่ต้องกังวล

น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เก็บมา 3 ปี ค่อนข้างมีปัญหา อาทิ การนิยามสิ่งปลูกสร้าง การส่งหนังสือเพื่อแจ้งเรื่องการประเมินภาษีที่หนังสือถูกตีกลับเป็นจำนวนมาก และที่เป็นปัญหาที่สุด คือความพยายามหลบเลี่ยง ด้วยการดัดแปลง หรือบิดเบือนประโยชน์การใช้ที่ดิน เช่น การปลูกกล้วย หรือปลูกมะนาวใจกลางเมือง เป็นต้น

“เราคิดว่า ต้องให้อำนาจท้องถิ่น ที่จะเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ของแต่ละท้องถิ่น โดยประเภทของที่ดินต้องสอดคล้องกับสีของผังเมืองด้วย ซึ่งให้อำนาจท้องถิ่นเป็นหลัก”

ส่วนกระบวนการศุลกากร ในประเด็นเรื่องสินบนรางวัลนำจับนั้น พรรคก้าวไกลมองว่า ควรจะนำเงินเข้าคลังก่อน แล้วจึงค่อยจัดสรรเป็นแรงจูงใจในการจับกุมให้เจ้าหน้าที่ พร้อมกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ในการทำงาน เพื่อลดผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะที่การตีความของศุลกากรที่สามารถประเมินภาษีย้อนหลังได้นั้น ทางพรรคได้รับข้อร้องเรียนเข้ามามาก และสิ่งที่พบว่าเป็นปัญหามาก ทำให้เกิดต้นทุนที่ไม่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า รวมถึงการใช้วิจารณญาณตีความพิกัดภาษี โดยแต่ละที่ แต่ละด่านก็ไม่เหมือนกัน ทำให้ผู้ประกอบการปวดหัวมาก

“จำเป็นจะต้องมีฐานข้อมูลพิกัดอัตราภาษีศุลกากรให้ผู้ประกอบการ ให้ประชาชนได้เข้ามาเช็กก่อนล่วงหน้า และต้องไม่ให้มีการตีความแตกต่างกัน”

ด้านเรื่องความซ้ำซ้อนในกระบวนการขออนุญาตนำเข้า ที่ต้องขออนุญาตหน่วยงานต่าง ๆ ถึง 37 หน่วยงาน เช่น องค์การอาหารและยา (อย.) ทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เป็นต้น ทำให้กระบวนการอนุญาตค่อนข้างล่าช้า ก็จะต้องลดความซ้ำซ้อน โดยทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่เป็นอุปสรรค พิจารณาว่าหากสินค้าได้รับอนุญาตตามมาตรฐานในต่างประเทศแล้ว ก็ควรนำมาปรับใช้ได้ในเมืองไทย

“ตอนนี้ เราเจอว่าสินค้าหลาย ๆ อย่างที่นำเข้าจากจีน ไม่เจอมาตรฐาน มอก. ในขณะที่สินค้าที่ผลิตในประเทศ ต้องเจอมาตรฐาน มอก. ที่เข้มข้นและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก ตรงนี้ก็จะเป็นเรื่องของความเป็นธรรม”

นอกจากนี้ บริการภาครัฐจะต้องทำให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยื่นแบบเพื่อขอคืนอากรของกรมศุลกากร จะต้องยกเครื่องระบบใหม่

ขณะที่การชดเชยการส่งออกสินค้าที่มีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำนั้น พรรคก้าวไกลมีนโยบายที่จะให้ทำเรื่องคาร์บอนเครดิตเป็นภาคบังคับ โดยกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งจะไม่ต้องชดเชยการส่งออก แต่เป็นการใช้กลไก Cap and Trade แทน กล่าวคืออุตสาหกรรมใดที่ส่งออกสินค้าที่มีคาร์บอนต่ำ ก็จะได้เทรดคาร์บอนเครดิต

ส่วนภาษีสรรพสามิต ต้องเน้นการควบคุมพฤติกรรมการบริโภคมากกว่าการจัดหารายได้เข้ารัฐ

วรวุฒิ

พรรคชาติพัฒนากล้า

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ตัวแทนพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า หลักคิดเรื่องภาษีของพรรคชาติพัฒนากล้า ซึ่งเป็นพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย เน้นเรื่องการแข่งขัน และลดบทบาทของทุนผูกขาด โดยอยากเปลี่ยนทุนผูกขาดเป็นทุนเผื่อแผ่ ซึ่งต้องใช้นโยบายภาษีมาช่วย ขณะเดียวกันพรรคจะไม่เน้นเรื่องการแจกเงิน หรือประชานิยม แต่จะเน้นโอกาสนิยม สร้างโอกาสให้คนตัวเล็กได้ลืมตาอ้าปากได้

“เหตุผลที่ไม่เน้นแจกเงิน เพราะถ้าประชานิยม จะตามมาด้วยการต้องปรับโครงสร้างภาษีตามมา เราจึงพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ ฉะนั้นนโยบายต่าง ๆ เราจะเน้นไปที่เรื่องการปรับโครงสร้าง และการหารายได้ โดยเฉพาะการหารายได้ เราตั้งเป้าไว้ 5 ล้านล้านบาท ผ่านเศรษฐกิจเฉดสี 7 รูปแบบ”

ทั้งนี้ พรรคชาติพัฒนากล้ามีนโยบายปรับโครงสร้าง 4 เรื่องคือ 1.พลังงาน 2.การเข้าถึงเงินทุน 3.ลดภาษีในกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่ถึง 40,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะใช้งบประมาณแค่ 6,000 ล้านบาท แต่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนได้อย่างมหาศาล

“เราต้องใช้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเครื่องมือ ฉะนั้นอะไรที่เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เราจะพยายามไม่ให้มีภาษี อย่างพวก Transaction Tax ก็จะยกเลิก เพราะหลักการของเราจะใช้ภาษีเพื่อกระตุ้นการแข่งขัน และ สร้างโอกาส”

นายวรวุฒิกล่าวว่า การจะเพิ่มรายได้ให้รัฐจะเน้นการกระจายฐานภาษีมากกว่าการขึ้นภาษี ขณะที่จะใช้ตลาดหุ้นเป็นเครื่องมือในการช่วยเกษตรกร เนื่องจากนโยบายจำนำ หรือประกันราคาไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหา เพราะเน้นแต่ปริมาณไม่ได้เพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร

“เราจะรวมเกษตรกรอยู่ในรูปสหกรณ์ แล้วนำสหกรณ์เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ”

นอกจากนี้ จะมีนโยบายภาษีที่ให้แรงจูงใจบริษัทใหญ่ ๆ ไปโตต่างประเทศ เพื่อไม่มาแย่งตลาดเอสเอ็มอีในประเทศ

ส่วนนโยบายเกี่ยวกับภาษีที่ดิน ทางพรรคชาติพัฒนากล้ามีนโยบายว่า ใครที่ทำที่ดินให้เป็นสวนสาธารณะ จะได้ประโยชน์ทางภาษี

ขณะที่ภาษีนิติบุคคลนั้น ทางพรรคชาติพัฒนากล้า จะพยายามไม่แตะต้อง และมีแนวโน้มที่จะลดภาษีมากกว่าที่จะเพิ่มภาษี โดยในด้านพลังงานอาจจะนำภาษีลาภลอยมาปรับใช้

นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า พรรคยังมีนโยบายลดภาษีเกี่ยวกับสินค้าฟุ่มเฟือยทั้งหมด เพราะประเทศไทยเป็นประเทศท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดเป็นช็อปปิ้งพาราไดซ์ได้จริง ขณะที่เรื่องการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวก็ต้องทำจริงจัง ส่วนเรื่องสินบนนำจับต้องเลิก เพราะทำแล้วชาวบ้านเดือดร้อน

นอกจากนี้ ในเรื่องคาร์บอน พรรคมีนโยบายจะส่งเสริมการติดโซลาร์รูฟท็อป โดยให้ชาวบ้านติดฟรี แล้วนำส่วนต่างที่ลดได้มาผ่อน ซึ่งจะสามารถทำได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านหลังคาเรือน

สุพันธ์

พรรคไทยสร้างไทย

นายสุพันธ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าและประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ปัญหาภาษีของประเทศ มีโดยหลัก ๆ อยู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือ ความไม่ทันสมัยของระบบภาษี และความไม่สอดคล้องและสัมพันธ์กัน ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย โดยกรมภาษี 3 กรม จะต้องบูรณาการกัน เพื่อไม่ให้เสียภาษีซ้ำซ้อน ฐานข้อมูลต้องเชื่อมโยงกันเป็น “Deta One” มีการใช้ IT Digital เข้ามาช่วย

ด้านนโยบายการส่งเสริมด้านภาษี พรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายช่วยคนตัวเล็ก โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งที่ผ่านมาเสียหายอย่างมากจากช่วงโควิด ทั้งนี้ พรรคจะมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อแขวนการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคไว้ชั่วคราว

ขณะเดียวกันจะผลักดันให้เอสเอ็มอีเข้าระบบ e-Tax, e-Invoice เพื่อให้สามารถเข้าถึงด้านการเงินได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ พรรคมีนโยบายให้ผู้ที่ลงทุนด้าน BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)) ต้องได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไม่ต้องเสียภาษี 5 ปี หรือให้หักภาษีเครื่องจักรที่ทำเกี่ยวกับ BCG ได้ 2 เท่า ในขณะที่ผู้บริโภคก็ต้องหักภาษีได้ 20-30%

นายสุพันธ์กล่าวอีกว่า พรรคมีนโยบายปรับปรุงภาษีที่ดินให้ได้ประโยชน์ที่สุดในการใช้ที่ดิน โดยเกษตรต้องได้ประโยชน์มากที่สุด แต่ต้องไม่ใช่เกษตรหลอกลวง เช่น ปลูกพืชตามถนนสุขุมวิท เป็นต้น

ด้านกฎหมายศุลกากรต้องตีความให้ชัดเจน รวมถึงความซ้ำซ้อนต่าง ๆ ที่ต้องขออนุญาตหลายหน่วยงาน โดยเรื่องนี้อยู่ภายใต้นโยบายการแขวนกฎหมาย 1,400 ฉบับของพรรคไทยสร้างไทย อย่างเช่น การขออนุญาต อย. ถ้าไม่เกี่ยวกับยา และเครื่องมือแพทย์ จะไม่ให้ อย. เข้ามายุ่งเลย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง น้ำดื่ม อาหารเสริม ฯลฯ

ขณะที่ภาษีสรรพสามิต มองว่าไม่ควรจัดเก็บสินค้าที่คนมีการบริโภคกันมาก ๆ

“เราต้องมีระบบภาษีเพื่อช่วยคนไทยให้แข็งแกร่ง ไม่ใช่เป็นอุปสรรค นี่คือสิ่งสำคัญ”

พิสิฐ

พรรคประชาธิปัตย์

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องภาษียึดโยงกับรายได้รัฐบาล มีผลต่อภาระของรัฐในอนาคต โดยแนวคิดของพรรค ปชป. อยากให้เศรษฐกิจโตกว่านี้ ไม่ใช่โตแค่ 1-2% เพราะจะเก็บภาษีได้น้อย โดยพรรคต้องการให้ภาษีมีการกระจาย ซึ่งหากเศรษฐกิจโตได้ 5% ขึ้นไป ก็มีโอกาสเก็บภาษีได้มากขึ้น

สำหรับเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล ขณะนี้โลกกำลังจับต้องว่าประเทศไหนลดภาษี ก็จะมีระบบการเก็บภาษีชดเชย ทำให้การลดภาษีเพื่อให้ได้เปรียบประเทศอื่น ๆ จะทำได้ยาก แต่ก็มีช่องทางเรื่องการเงินที่ทำได้ ซึ่งพรรคอยากส่งเสริมให้อำเภอหาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการเงินนานาชาติของภูมิภาค

“ผมเชื่อว่า ปัจจุบันสิงคโปร์แพงไปแล้ว แล้วทุนจีน ทุนอาหรับ อยากเข้ามา เราพร้อมที่จะสนับสนุนให้หาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค โดยใช้เครื่องมือภาษีนิติบุคคลเป็นตัวช่วย ขณะเดียวกันภาษี ก็ต้องสร้างแต้มต่อให้เอสเอ็มอีด้วย”

ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะใช้เป็นเครื่องมือช่วยประเทศ เนื่องจากปัจจุบันไทยมีปัญหาเด็กเกิดใหม่ลดลง ซึ่งกระทบแรงงาน ประชากรสูงวัยมีมากขึ้น ดังนั้นต้องใช้นโยบายภาษีช่วย หักลดหย่อนภาษีบุตร ต้องปรับจาก 30,000 บาท เป็น 100,000 บาทต่อคน เพื่อเป็นแรงจูงใจ

อีกเรื่องหนึ่งปัจจุบันไทยเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3.6 แสนล้านบาทต่อปี โดยส่วนใหญ่ 3 แสนล้านบาทเก็บในกรุงเทพฯ ส่วน 60,000 ล้านบาทเก็บในต่างจังหวัด ดังนั้นต้องส่งเสริมให้ท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศตื่นตัวในเรื่องการเก็บภาษีจากคนรวยในท้องถิ่น

“พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบาย จะให้ท้องถิ่นมีส่วนได้ส่วนเสียในภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น ถ้าภูเก็ตเก็บได้ 100 บาท เราอาจจะแบ่งให้เขา 50 บาท เชื่อว่าจะทำให้ภาษีมีความเป็นธรรมมากขึ้น”

ส่วนปัญหาการทำงานของศุลกากรและสรรพสามิต ก็ต้องแก้ไข โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิต ต้องผลักดันเก็บภาษีคาร์บอน เพราะมีผลต่อการส่งออกของไทย หากทำไม่ดี อาจจะโดนรังแก เพราะปัจจุบันทุกประเทศมีการออกกฎหมาย เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศตัวเอง ดังนั้น ต้องรีบปรับตัวในเรื่องนี้

“วันนี้เรามีความสับสนมากในเรื่องอุตสาหกรรม พวกที่อยู่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ว่าต้องเก็บภาษีเท่าไหร่ ทุกวันนี้ภาษีที่เราเก็บจากสินค้าสำเร็จรูปบางประการมีอากร 0% ขณะที่ถ้าทำชิ้นส่วนเข้ามาต้องเสียอากร แน่นอนว่าทำให้ผู้ผลิตปลายน้ำเสียหาย ฉะนั้นต้องมีนโยบายเรื่องนี้ที่ชัดเจนว่าเซ็กเตอร์อะไรเป็นยุทธศาสตร์ของเรา แล้วทำเรื่องภาษีให้ชัดเจน”

กิตติรัตน์

พรรคเพื่อไทย

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำว่าภาษีอยากให้รวมคำว่าค่าธรรมเนียมเข้าไปด้วย เพราะมีผลต่อรายได้รัฐเช่นเดียวกัน รวมถึงนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ถูกจัดเก็บด้วย ดังนั้น จึงไม่ใช่แค่ภาษีจาก 3 กรมภาษีหลักเท่านั้น เช่น หากเก็บค่าธรรมเนียมออกวีซ่าให้นักท่องเที่ยว ก็สามารถให้วีซ่าที่มีอายุยาวขึ้นเป็น 5 ปี 10 ปีได้ ซึ่งจะทำให้คนมีกำลังซื้อตัดสินใจเข้ามาเที่ยว

รวมถึงภาษีรถยนต์ ก็ต้องปรับให้เหมาะสม ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม

“เราจำเป็นต้องทำอีกหลายอย่าง ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องภาษี เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาษีศุลกากร จากการที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องเดือดร้อนจากการตีความย้อนหลังนั้น ตนไม่เห็นด้วยแน่นอน และอาจจะต้องทำให้สั้นลงด้วย การตีความภาษีต้องทำให้ชัดเจนโดยเร็ว ไม่ใช่กินเวลาหลายปี ส่วนการนำเข้าที่ต้องขออนุญาตหลาย ๆ หน่วยงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องให้ความร่วมมือกับศุลกากร

ขณะที่ภาษีสรรพสามิต ก็ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชนให้เหมาะสม และสอดคล้องกับประชาคมโลก

ส่วนเรื่องภาษีของกรมสรรพากร ที่เป็นกรมใหญ่ที่สุด ซึ่งสมัยที่ตนเป็น รมว.คลัง ภาษีนิติบุคคล ได้ลดอัตราจาก 30% เหลือ 20% ภายใต้ข้อกล่าวหาว่าจะทำให้เก็บภาษีได้ไม่เพียงพอ ซึ่งไม่จริง เพราะฐานภาษีกว้างขึ้น โดยหากตนยังอยู่ในตำแหน่ง คงลดไปมากกว่านี้แล้ว เพราะต้องการให้ประเทศแข่งขันได้

สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มองว่าอัตราภาษีที่เป็นขั้นบันไดในปัจจุบันมีความเหมาะสม แต่ต้องทบทวนเรื่องค่าลดหย่อน

“ด้านภาษีซื้อขายหุ้น ผมไม่เห็นด้วยกับการจะเก็บภาษีกำไรของบุคคลธรรมดา เพราะไม่คุ้ม ยุ่งยากมาก บุคคลธรรมดาต้องลงบัญชีตัวเอง ว่าซื้อมาเท่าไหร่ยังไง ขายยังไง ใครจะไปติดตาม แต่การที่พรรคเพื่อไทยออกมาพูดเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ภาคตลาดทุนไปห้ำหั่นราคาการให้บริการกันจนกำไรแทบไม่เหลือ ทำให้กำไรที่จะมาจ่ายให้รัฐก็แทบไม่เหลือไปด้วย แล้วภารกิจในการดูแลระบบตลาดทุนของรัฐก็ยังมีอยู่

ฉะนั้นรัฐก็อาจจะต้องอาสา ถ้าตลาดทุนไม่แก้ปัญหาของตัวเอง เพราะถ้ากำกับกันดี ๆ ทำรายได้ให้ดี ๆ มีรายได้พึงประเมินที่ดี เสียภาษีตรงนั้นถูกต้อง ก็จะไม่ต้องไปเก็บจากรายการซื้อขาย แต่ถ้าไม่ทำ รัฐก็อาจจะมีความจำเป็นต้องทำ”

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ในส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตนจะเสนอให้พรรคเพื่อไทยพิจารณา ให้ยกเลิก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กลับไปใช้ภาษีโรงเรือน เพราะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกมาเมื่อปี 2562 ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งการที่ออกมาแบบไม่รอบคอบ ทำให้เกิดปัญหา เพราะหลักการของประเทศไทยยึดหลักการว่า ภาษีจะอยู่ที่ความสามารถในการจ่าย

“การที่ใช้อัตราใส่เข้าไปในมูลค่าทรัพย์ ทำให้หน่วยงานที่มีความสามารถในการจ่าย และเดิมจ่ายภาษีโรงเรือนในอัตราที่ดี จ่ายน้อยลงไปมาก แต่คนที่ไม่ต้องจ่าย กลับต้องจ่ายมากขึ้น ทำให้เจตนาในการลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เกิด เพราะท่านเหล่านั้นไม่ได้นำที่ดินมาขายให้ราษฎรรายย่อย หากไม่มีการเตรียมการให้ราษฎรรายย่อย มีรายได้ที่ดีขึ้น ทำแต่เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แล้วก็ใช้คำพูดแบบโลกสวย ว่าทำแบบนี้แล้วจะลดความเหลื่อมล้ำ ผมว่าไม่เป็นจริง”

ไตรรงค์

พรรครวมไทยสร้างชาติ

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานที่ปรึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า นโยบายเรื่องภาษีต้องกำหนดเป้าหมายระยะยาวให้ชัดเจน เพื่อให้ประเทศมีรายได้เพียงพอในระยะยาว หรือมีเสถียรภาพในทางการคลัง ต้องคิดทั้งการหาภาษีเพิ่ม รวมถึงการลดภาษี ก็ล้วนต้องทำ อย่างกรมสรรพากร ก็ต้องดูว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ยกเว้นให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินต่ำกว่า 1.5 แสนบาทต่อปีไม่ต้องเสียภาษี ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องปรับ ขณะที่ค่าลดหย่อนก็ต้องทบทวนใหม่ นอกจากนี้ การจะเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ ก็ต้องแก้เรื่องคอร์รัปชั่นด้วย