ย้อนไทม์ไลน์ “เฟดขึ้นดอกเบี้ย” สู่ระดับ 5.00-5.25% สูงสุดรอบ 16 ปี

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ย้อนไทม์ไลน์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้งหมด 10 ครั้ง นับตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2565 จากดอกเบี้ย 0.25-0.50% สู่ระดับปัจจุบันที่ 5.00-5.25% สูงสุดในรอบ 16 ปี

วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้อีก 0.25% ตามคาดในวันพุธ (3 พ.ค.66) ที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5-5.25% แตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี

ทั้งนี้จากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วและรุนแรงมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเป้าหมายหลักในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ แต่สิ่งที่ตามมานั้นเริ่มเห็นถึงปัญหาทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากปัญหาธนาคารใหญ่ ๆ ระดับโลกที่ต้องปิดตัวลง ภาวะตลาดการลงทุนที่มีความผันผวน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่หลายคนคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่านี้คาดจากการที่เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งติดกัน

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมของเฟดครั้งล่าสุด เฟดมีการส่งสัญญาณว่ามีโอกาสหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ย้ำว่าแม้จะชะลอขึ้นดอกเบี้ยหรือยุติขึ้นดอกเบี้ย ดอกเบี้ยก็ยังคงจะอยู่ในระดับสูงต่อไป ซึ่งทำให้ตลาดตีความว่าเฟดกำลังส่งสัญญาณว่ายังไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้

สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ถือว่าเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสำคัญและคอยติดตามมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับตั้งแต่การปรับขึ้นครั้งแรกในปีที่แล้วจนถึงล่าสุดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยมาแล้วทั้งหมด 10 ครั้ง “ประชาชาติธุรกิจ” พาทุกคนย้อนไทม์ไลน์กลับไปดูการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในแต่ละครั้งที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

ครั้งที่ 1 : ประเดิม 0.25% ส่งสัญญาณขึ้นต่อทั้งปี

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% ในวันที่ 15-16 มี.คนาคม 2565 สู่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25-0.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2561

และในขณะนั้นเฟดก็ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 6 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี 2565 ครั้งละ 0.25% และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไปอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00% ตอนช่วงปลายปี และจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2566 แต่จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2567

ครั้งที่ 2 : เร่งขึ้น 0.50% พร้อมปรับลดงบดุล

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อวันที่ 3-4 พฤษภาคม 2565 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ หรือ 0.50% ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งมากสุดในรอบ 22 ปี ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเดินทางสู่ระดับ 0.75-1.00%

ทั้งนี้ เฟดยังเปิดเผยแผนทยอยปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ในขั้นตอนต่อไปเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงทะยานขึ้นแตะระดับ 8.5% ในเดือนมีนาคม 2565 ต่อเนื่องจากกุมภาพันธ์สูงถึง 7.9% สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย 2% กว่า 4 เท่าตัว นับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 41 ปี จากราคาพลังงาน อาหาร ที่อยู่อาศัย ที่เพิ่มขึ้นในขณะนั้น

ครั้งที่ 3 : ใช้ยาแรงขึ้น 0.75% สู้เงินเฟ้อ

โดยเฟดมีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 15 มิถุนายน 2565  สู่อัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับ 1.5%-1.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดของเฟดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537 เพื่อต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในประเทศ

ซึ่งการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอย่างรุนแรงในรอบนี้เกิดขึ้นหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี อยู่ที่ 8.6% ในเดือน พ.ค.

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 เฟดได้ทยอยปรับลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ วงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม

หลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม

ครั้งที่ 4 : ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ต่อ

ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน  ในการประชุมวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 สู่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25-2.50% ซึ่งในขณะนั้นอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐยังอยู่ในระดับสูง

ในขณะนั้นประธานเฟด ยังคงยืนยันหนักแน่นที่จะดึงตัวเลขเงินเฟ้อแตะเป้าหมาย 2% ให้ได้ และคาดว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องที่ดำเนินอยู่ขณะนั้นถือว่าเหมาะสมแล้ว และอาจจะมีการชะลอความถี่ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต

ครั้งที่ 5 : ยังใช้ยาแรง 0.75% เป็นครั้งที่ 3

โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมวันที่ 21 กันยายน 2565 สู่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.00-3.25% โดยในขณะนั้นเอง ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐยังคงอยูในระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี เฟดจึงยังเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องต่อไป จะเป็นมาตรการที่เหมาะสมในการสกัดเงินเฟ้อพุ่งสูงขณะนั้น

ครั้งที่ 6 : ขึ้น 0.75% ครั้งที่ 4 ติดกัน

เฟดประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ครั้งที่ 4 ติดกัน ในการประชุมวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งถูกปรับขึ้นมาแตะ 3.75-4.00% ในปัจจุบัน นับเป็นระดับสูงที่สุดของสหรัฐตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 หรือในรอบกว่า 14 ปี

ทั้งนี้ เฟดระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อฉุดอัตราเงินเฟ้อลงมานั้น “ยังต้องใช้เวลา” และการต่อสู้กับเงินเฟ้อจะส่งผลให้การเติบโตของสหรัฐชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เฟดจะหารือเรื่องการผ่อนความเร็วการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนครั้งถัดไปในเดือนธันวาคม 2565

ครั้งที่ 7 : เริ่มเบาเครื่องขึ้น 0.50%

ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายในรอบปี 2565 โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐปรับขึ้นระดับ 4.25-4.50 ซึ่งนับเป็นระดับสูงที่สุดของสหรัฐ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 หรือในรอบ 15 ปี

โดยเฟดยืนยันว่าอาจยังเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 เพื่อบรรลุเป้าหมายต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งในขณะนั้นมีการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566 จะสูงกว่าที่คาดไว้หรือแตะที่ระดับ 5.1% จึงจะสามารถปราบเงินเฟ้อได้

ดังนั้นในปี 2565 เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 7 ครั้ง โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 1 ครั้ง ปรับขึ้น 0.50% จำนวน 2 ครั้ง และปรับขึ้น 0.75% จำนวน 4 ครั้ง ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4.25%

ครั้งที่ 8 : ผ่อนคันเร่งขึ้น 0.25%

สำหรับในปี 2566 เฟดประชุมครั้งแรกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐเดินหน้าเข้าสู่ระดับ 4.50-4.75% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550

ในขณะนั้นมีการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.0% ในปี 2566 นี้ ต่ำกว่าที่เฟดส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ว่าจะปรับขึ้นสู่ระดับ 5.1% หรือเทียบเท่ากับช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย 5.00-5.25%

ครั้งที่ 9 : ขึ้น 0.25% ส่งสัญญาณปรับขึ้นอีกครั้งเดียว

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่อัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2550

ในขณะนั้นเฟดยังไม่รับประกันว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตอีกหรือไม่ ซึ่งปัจจัยส่วนใหญ่ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจในเวลานั้น และมีการส่งสัญญาณจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายลง

ครั้งที่ 10 : ขึ้นต่ออีก 0.25% และอาจคงไว้ถึงสิ้นปี

ในรอบการประชุมของธนาคารกลางหสรัฐ (เฟด) ล่าสุดวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550

โดยเฟดระบุว่า จะพิจารณาดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินเพิ่มเติมตามความเหมาะสม และทยอยปรับลดนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เมื่อมีการตัดสินใจในอนาคต

ทั้งนี้  FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือน มิถุนายน, กรกฎาคม และกันยายน ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน และปรับลดอีก 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเดือนธันวาคม 2566 นี้