ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคปี 2566 ยังเผชิญต้นทุนสูงขึ้น

สินค้าอุปโภคบริโภค
คอลัมน์ : Smart SEMs
ผู้เขียน : ttb analytics

กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นกลุ่มสินค้าสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของประชาชน โดยประมาณการขนาดธุรกิจของสินค้าอุปโภคบริโภคในปี 2565 ที่ผ่านมา มีมูลค่าราว 1.0 ล้านล้านบาท และคาดว่าในปี 2566 จะเติบโต 5.5% ด้วยมูลค่า 1.05 ล้านล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นรายได้ของผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค 3.4 แสนล้านบาท และผู้ค้าส่งสินค้าอุปโภค 7.1 แสนล้านบาท

แต่อย่างไรก็ดี ในปีนี้การประกอบกิจการของผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคนับว่ามีความท้าทายสูง จากภาวะต้นทุนที่ยังมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านดัชนีราคาผู้ผลิตที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ยังปรับเพิ่มขึ้น 2.0% แม้จะมีสัญญาณแผ่วลง แต่เป็นต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2565 โดยมีการปรับเพิ่มที่ 10.4%

การปรับตัวของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนับเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ เนื่องจากกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคจัดอยู่ในกลุ่มที่การขึ้นราคาสินค้านั้นทำได้ยากเพื่อลดแรงกดดันจากต้นทุนที่ปรับเพิ่ม เนื่องจากการที่ราคาสินค้าบางประเภทมีการควบคุมราคา และการปรับราคาส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน จึงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาวะต้นทุนส่วนเพิ่มไว้ เป็นการลดทอนพื้นที่กำไรของกิจการลง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับภาวะต้นทุนที่ยังมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้น

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ได้ทำการวิเคราะห์งบการเงินผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด โดยพบว่าต้นทุนสินค้าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี โดยกลุ่มผู้ผลิตมีต้นทุนทางตรงคิดเป็นสัดส่วน 71.7% ของยอดขาย และในกลุ่มผู้ค้าส่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 82.2% แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปพบว่า ในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs มีโครงสร้างต้นทุนทางตรงที่สูงกว่า เช่น ในปี 2565 กลุ่ม SMEs ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค คาดว่ามีต้นทุนทางตรงคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 76.7%

ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้ประกอบรายใหญ่ที่มีสัดส่วนต้นทุนทางตรง 72.3% สอดคล้องกับกลุ่มผู้ค้าส่งที่มีโครงสร้างต้นทุนทางตรงสำหรับผู้ประกอบการ SMEs อยู่ราว 83.1% ซึ่งสูงกว่า 80.7% สำหรับผู้ค้าส่งรายใหญ่

จากต้นทุนทางตรงที่สูงกว่าสำหรับผู้ประกอบการ SMEs เป็นแรงกดดันที่สำคัญให้อัตราส่วนกำไร (EBIT) ในปี 2565 ที่ผ่านมาของผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มผู้ผลิตและผู้ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงเหลือ 4.3% และ 3.9% ซึ่งลดลงจากปี 2564 ที่อัตราส่วนกำไรอยู่ที่ 4.4% และ 4.0% ตามลำดับ รวมถึง เมื่อ
พิจารณาถึงภาวะต้นทุนที่ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ส่งผลให้ในปี 2566 ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคต้องเร่งปรับกลยุทธ์รับมือเพื่อรักษาพื้นที่กำไร โดยพยายามบริหารจัดการต้นทุนในส่วนของต้นทุนการขายและการบริหาร (selling, general and administration) เป็นสำคัญ เนื่องจากในกลุ่มของสินค้าอุปโภคบริโภคการปรับลดต้นทุนสินค้าเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมโดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าส่ง

ซึ่งจากการประมาณของ ttb analytics ได้ประเมินว่าการปรับลดต้นทุนการขายและการบริหารลงทุก ๆ 10% จะช่วยเพิ่มสัดส่วนกำไรให้กับกิจการในกลุ่ม SMEs อีก 1.9% สำหรับผู้ผลิต และ 1.3% สำหรับกลุ่มผู้ค้าส่ง โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจควรให้ความสนใจเพื่อปรับตัวให้ทันกับตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

1.การเน้นเรื่องประสิทธิภาพในการทำการตลาดและการขาย โดยปกติค่าใช้จ่ายในส่วนของการทำการตลาดเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อเพิ่มยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ด้วยพื้นที่กำไรที่ไม่สูงนักของกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค การมุ่งเน้นเรื่องประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญตามแนวคิด “ทำน้อย แต่ได้มาก” (Less is more) จากการใช้ต้นทุนให้น้อยลง ลดทอนในสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือสิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพออก

รวมถึงเน้นการใช้เทคโนโลยีในการทำการตลาดและช่องทางการขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำ ซึ่งจะเป็นการลดข้อจำกัดในพื้นที่ขายและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและสะดวกขึ้นด้วยการทำการตลาดผ่านรูปแบบการขายแบบไลฟ์คอมเมิร์ซซึ่่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบันจากประสิทธิภาพในการทำการขายที่สูงบนต้นทุนที่ต่ำ

รวมถึงการพิจารณาใช้ outsource เช่น ทีมการตลาด หรือใช้บริการขนส่งผ่าน third party logistic เนื่องจากกลุ่ม outsource จะมีความชำนาญเฉพาะที่อาจส่งผลให้การบริหารจัดการงานขายและการตลาดในภาพรวมมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

2.การลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ ผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ที่ช่วยลดต้นทุนผันแปร สามารถดำเนินการด้านการลงทุนในระบบบริหารจัดการเพื่อลดการใช้แรงงานลง เนื่องจากปัจจุบันระบบซอฟต์แวร์สามารถพัฒนาครอบคลุมขั้นตอนการทำงานได้หลายส่วนงาน เช่น ระบบการลงเวลาทำงาน การลางาน การทำงานล่วงเวลา รวมถึงการส่งเอกสารในแต่ละขั้นตอนสามารถส่งผ่านระบบที่สามารถกำหนดลำดับการลงเอกสารตามอำนาจอนุมัติ รวมถึงการลงทุนในระบบพลังงานทางเลือก เช่น ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อนำมาลดต้นทุนค่าไฟในการผลิตหรือเพื่อใช้งานสำหรับสำนักงาน เป็นต้น