เส้นทาง…สู่ “รัฐสวัสดิการ”

รัฐสวัสดิการ
คอลัมน์ : เช้านี้ที่ซอยอารีย์
ผู้เขียน : พงศ์นคร โภชากรณ์ ([email protected])

นโยบายหาเสียงที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ร้อยละ 90 อยู่ในหมวดนโยบายสวัสดิการ เช่น การช่วยเหลือผู้สูงอายุ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย การช่วยเหลือทั้งแม่และลูก เป็นต้น ซึ่งเป็นงบประมาณที่ “ให้มากกว่าที่ให้อยู่เดิม” เพื่อหวังว่าจะได้ใจประชาชนมากกว่า เมื่อรวมยอดเงินที่ต้องใช้สำหรับนโยบายสวัสดิการต่าง ๆ เฉลี่ยประมาณ 7 แสนล้านบาท บางพรรคสูงเกือบ 1 ล้านล้านบาท

หากเทียบกับงบประมาณให้กลุ่มการคุ้มครองทางสังคมที่เฉลี่ยตกปีละประมาณ 7.5 แสนล้านบาท ก็แปลว่า หลังการเลือกตั้ง หากนำนโยบายเหล่านี้มาใช้จริง งบประมาณจะสูงขึ้นจากเดิมอย่างมาก นี่คือสัญญาณว่า เรากำลังเดินเข้าสู่ “เส้นทางรัฐสวัสดิการ” อย่างเต็มตัวแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผมขอเสนอหลักคิดในการมุ่งหน้าสู่รัฐสวัสดิการไว้ 5 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ความพอเพียง : ในช่วง 3 ปีงบประมาณหลังสุด 2563-2565 มีงบประมาณที่เข้าข่ายเป็นรายจ่ายเพื่อความคุ้มครองทางสังคมประมาณ 7.5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม หรือเกือบ 1 ใน 4 ของงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี สูงสุดในบรรดา 7 ยุทธศาสตร์ในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ดังนั้น ความพอเพียงไม่ได้เป็นปัญหา ตราบเท่าที่ไม่ทำให้ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นจนไม่มีเงินไปทำมาตรการอย่างอื่น หรือกระทบคนกลุ่มอื่น ๆ แต่หากให้มากจนเกินไป ความเกินพอดีอาจนำมาซึ่งปัญหาที่แก้ได้ยากยิ่ง นั่นคือ “การเสพติดประชานิยม” ตัวอย่างประเทศที่ล่มสลายเพราะเรื่องนี้ก็มีให้เห็น

ประเด็นที่ 2 ความต้องการ : ในแต่ละสวัสดิการของแต่ละหน่วยงาน ควรมีการสอบถามความต้องการของพี่น้องประชาชนว่ามีความต้องการให้รัฐช่วยเหลือเรื่องอะไร บางเรื่องสามารถช่วยเป็นตัวเงิน บางเรื่องช่วยเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น คนพิการบางคนอยากได้รถเข็นมากกว่าเงิน

บางเรื่องช่วยในลักษณะการให้บริการอำนวยความสะดวก เช่น ต้องการ อสม. ไปตรวจสุขภาพในหมู่บ้าน บ่อยครั้งที่รัฐบาลช่วยเหลือไม่ตรงกับความต้องการ เช่น บางคนไม่ต้องการค่าโดยสารสาธารณะ แต่ต้องการเพิ่มวงเงินในการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าแพง เป็นต้น

ดังนั้น รัฐบาลใหม่ควรสำรวจความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ อะไรคือความต้องการขั้นพื้นฐาน จึงจะแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและคุ้มค่างบประมาณ เพราะความต้องการของผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ โดยเฉพาะความอ่อนไหวของรายได้และรายจ่ายต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ

ประเด็นที่ 3 ความทั่วถึง : สวัสดิการตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ แต่จากการพิเคราะห์จะพบว่า สวัสดิการหรือความคุ้มครองทางสังคมสำหรับกลุ่มอาชีพอิสระ ค้าขาย ประกอบธุรกิจส่วนตัวเล็ก ๆ มีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ใช้แรงงาน และเกษตรกร

ดังนั้น ความทั่วถึงจึงเป็นปัญหาอีกประการหนึ่ง สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ เราควรจะให้สวัสดิการแบบไหน แบบที่ 1 แบบเท่าเทียม หรือ equality กล่าวคือ ถ้าตั้งเป้าให้ผู้มีรายได้น้อยมีเงินเพิ่มขึ้น 500 บาท แต่ให้ทุกคน 300 บาท คนที่รอดคือคนที่มีอย่างน้อย 200 บาท คนที่มีต่ำกว่านี้จะไม่รอด หรือแบบที่ 2 แบบเสมอภาค หรือ equity แต่ละคนได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับรายได้ก่อนหน้า แล้วเติมให้เฉพาะส่วนที่ขาดเพื่อให้ครบ 500 บาทตามเป้า

ภาพสุดท้ายคือทุกคนจะแตะระดับเป้าหมายเท่ากันทุกคน แต่การทำแบบนี้ได้ รัฐบาลต้องทราบก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายมีกี่คน หน้าตักมีเท่าไร ระดับที่แต่ละกลุ่มคนพออยู่ได้เป็นเท่าไร

ประเด็นที่ 4 ความซ้ำซ้อน : สวัสดิการในแต่ละช่วงชีวิตมีหลายอย่างและมีหลายหน่วยงานคอยช่วยเหลือ ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าครอบครัวหนึ่ง ตาเป็นผู้สูงอายุและเป็นผู้พิการ ยายเป็นผู้สูงอายุ มีลูกและลูกสะใภ้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีหลานอายุไม่ถึง 6 ขวบ 2 คน อยู่ในโรงเรียนห่างไกลกันดาร และไม่มีเงินส่งเสียค่าเทอม แถมบ้านอยู่ในสภาพทรุดโทรมต้องรื้อสร้างใหม่ ครอบครัวนี้ภายใน 1 ปี จะได้รับเงินสนับสนุนหลายทางจากหลายหน่วยงาน

ดังนั้น สวัสดิการบางอย่างต้องพิจารณาถึงความซ้ำซ้อน หากมองว่าเป็นสิทธิที่พึงได้ จำเป็นต้องกำหนดเพดาน หรือสวัสดิการขั้นพื้นฐานไว้ด้วยหรือไม่ สวัสดิการไหนควรเป็นแบบถ้วนหน้า (universal) หรือแบบเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (targeting) และถ้าลดความซ้ำซ้อนได้จะช่วยเพิ่มพื้นที่ทางการคลังได้โดยอัตโนมัติ หรือสามารถนำเงินที่ประหยัดได้ไปช่วยคนที่ยากจนข้นแค้นกว่าได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการจะลดความซ้ำซ้อนได้นั้น เราต้องสร้าง big data สวัสดิการทั้งระบบขึ้นมาช่วย ปัจจุบันยังมีความเป็นไซโลอยู่สูง (ต่างคนต่างเก็บข้อมูล)

ประเด็นที่ 5 ความโปร่งใส : ประเด็นนี้ผมไม่ค่อยห่วง เพราะสามารถนำเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลในปัจจุบันมาช่วยในการทำงานได้อยู่แล้ว เช่น รัฐสามารถโอนเงินเข้าบัญชี หรือแอปพลิเคชั่น หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของผู้รับสวัสดิการต่าง ๆ ได้ภายในวันเวลาที่กำหนด ไม่ต้องเดินทางมาลงนามรับเงินสด ไม่มีการรั่วไหลเพราะไม่มีคนกลางคอยรับและจ่ายเงิน

ดังนั้น สวัสดิการหลายอย่างควรเปลี่ยนระบบกระดาษมาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้หมด เช่นเดียวกับที่กรมบัญชีกลางจ่ายให้แก่เด็กแรกเกิด คนพิการ และผู้สูงอายุ ได้อย่างตรงตัวและรวดเร็ว อีกทั้งมีระบบ e-Social welfare เพื่อตรวจเช็กว่าใครได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง

ฉะนั้น การจะเดินหน้าสู่ “รัฐสวัสดิการ” เต็มตัวนั้น การปฏิรูประบบสวัสดิการโดยคำนึงถึง 5 ประเด็นข้างต้น จึงมีความสำคัญมาก และต้องอาศัยข้อมูลและความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ มากกว่านโยบายด้านอื่น ๆ

จึงจะทำให้รัฐสวัสดิการที่เราใฝ่หานั้น สามารถคุ้มครองทุกคนในสังคมได้อย่างแท้จริงและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ที่สำคัญ ต้องไม่ทำร้ายหรือซ้ำเติมภาระทางการคลังของประเทศมากจนเกินไป

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด