ดอลลาร์ยังถูกกดดัน ตลาดจับตาการเจรจาปรับเพดานหนี้

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 8-12 พฤษภาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (8/5) ที่ระดับ 33.89/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (3/5) ก่อนวันหยุดยาวในประเทศไทยที่ระดับ 34.04/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยเป็นผลมาจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐภายหลังการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ตลาดจับตาดูในวันที่ 2-3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 5.00-5.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้

โดยเป็นการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 10 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี โดยถ้อยแถลงหลังการประชุมระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังขยายตัวได้ ตลาดแรงงานแข็งแกร่งและอัตราการว่างงานต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดีทางคณะกรรมการได้ส่งสัญญาณยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วยการยกเลิกประโยคที่เคยระบุไว้ในแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ว่า

“คณะกรรมการเฟดคาดการณ์ว่าการคุมเข้มนโยบายเพิ่มเติมอาจมีความเหมาะสม” เพื่อให้เฟดบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% นอกจากนั้นแล้วนักลงทุนยังเทขายดอลลาร์จากความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น หลังสหรัฐเปิดเผยรายงานการจ้างงานเดือนเมษายนที่ดีเกินคาด โดยกระทรวงแรงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 253,000 ตำแหน่งในเดือนเมษายน มากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 180,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.4%

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจอยู่ที่ 3.6% ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในวันอังคาร (9/5) โดยได้รับแรงหนุนจากการที่นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก กล่าวว่า เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อไม่ได้ปรับตัวลง พร้อมกันนี้ เขายังมองไม่เห็นเหตุผลในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

อย่างไรก็ดี เขาจะนำวิกฤตในภาคธนาคาร และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการขยายตัว การจ้างงานและเงินเฟ้อ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณาแนวโน้มนโยบายอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ นายวิลเลียมส์ยังกล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำเป็นต้องใช้เวลาในการส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจก่อนที่เงินเฟ้อจะปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมายของเฟดที่ 2% โดยคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะต้องใช้เวลาอีก 2 ปี เพื่อให้กลับสู่ระดับ 2% ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงอีกครั้งในวันพุธ (10/5) ภายหลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่า

โดยคาดดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือน เม.ย. โดยดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 4.9% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 5.0% และชะลอตัวจากระดับ 5.0% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนเมษายน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ จากระดับ 0.1% ในเดือนมีนาคม

โดยตัวเลขที่ปรับตัวลงต่ำกว่าคาดทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ในช่วงปลายสัปดาห์นักลงทุนจับตาการหารือรอบ 2 ระหว่าง ปธน.โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในคืนวันนี้ เกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ซึ่งปัจจุบันเพดานหนี้อยู่ที่ระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังการเจรจาเมื่อวันอังคารไม่ประสบความคืบหน้า

โดยนายแมคคาร์ธี ระบุว่า การเพิ่มเพดานหนี้จะต้องแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลยอมปรับลดงบประมาณรายจ่าย ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ ปธน.ไบเดนไม่สามารถยอมรับได้ ทั้งนี้ หากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ภายในวันที่ 1 มิถุนายน ก็จะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค เนื่องจากมีกระแสเงินไหลเข้าทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น โดยตลาดพันธบัตรมีเงินไหลเข้าเมื่อวันอังคาร (9/5) ราว 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการเข้าซื้อมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน โดยภายในเดือนพฤษภาคมมีการเข้าซื้อพันธบัตรไปกว่า 5 หมื่นล้านบาท จากการที่นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการฟื้นตัวทางด้านการท่องเที่ยว

โดยทางรัฐบาลคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยประมาณ 2 ล้านคนในเดือนพฤษภาคม ทางด้าน SCB EIC ได้มีการคาดการณ์ว่า ไทยอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งละ 0.25% สู่ระดับ Terminal rate ที่ 2.5% เพื่อให้บรรลุกรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นแล้ว จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น จากปัจจัยด้านการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566

โดยการส่งออกได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า คาดว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ทำให้การส่งออกขยายตัวดีขึ้น รวมทั้ง GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งครึ่งปีแรกจะขยายตัว 2.9-3.0% และในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่า 4.0% ส่งผลให้ปี 2566 GDP ของไทยจะขยายตัว 3.6%

สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อช่วงครึ่งปีแรกยังสูงที่ 3.3% แต่ช่วงครึ่งหลังเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่ากรอบอยู่ที่ 2.5% อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงติดตามสภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือและดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง

รวมทั้งเพิ่มศักยภาพ เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวโดยรวมในทิศทางที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์อยู่ในกรอบระหว่าง 33.55-34.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/4) ที่ระดับ 33.95/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐุ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (8/5) ที่ระดับ 1.1018/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิตลาดเมื่อวันพุธ (3/5) ที่ระดับ 1.1035/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แม้ในวันพฤหัสบดี (4/5) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมตามการคาดการณ์ของตลาด โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกัน

โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า ECB จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อในยูโรโซนจะยังไม่ปรับตัวลงสู่เป้าหมาย 2% ของ ECB จนกว่าจะถึงปี 2568 นอกจากนั้นแล้ว ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจในยูโรโซนที่ไม่ค่อยดีนัก โดยยอดค้าปลีกของสหภาพยุโรปในเดือนมีนาคมปรับตัวลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งมากกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจะลง 0.1%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภครายเดือนประจำเดือนเมษายนอยู่ที่ 0.4% ทรงตัวจากในเดือนมีนาคมที่อยู่ที่ระดับ 0.4% ทางฝั่งสำนักงานกำกับดูแลทางการเงินของธนาคารกลางเยอรมนี ได้กล่าวว่า เนื่องจากคามผัวผวนของสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ อาจทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ของเยอรมันประสบปัญหา เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางธนาคาร เนื่องจากธนาคารจะต้องแบกรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นแล้ว นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในยูโรโซนในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิกเคอิ “มีหลายปัจจัยที่เสี่ยงกระตุ้นให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต” อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับภาคการธนาคาร แต่นางลาการ์ดชี้ว่า “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นไม่ได้อยู่ในการคาดการณ์พื้นฐานสำหรับปี 2566 ของ ECB” และได้กล่าวเป็นนัยอย่างชัดเจนถึงการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภครายปีเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 7% ในยูโรโซน เทียบกับระดับ 5% ในสหรัฐและ 3% ในญี่ปุ่น โดยเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเร็วเป็นพิเศษในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยเงินเฟ้อทะลุ 10% ในประเทศแถบทะเลบอลติก

ทั้งนี้ มีรายงานระบุว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อประชาชนและจุดชนวนให้เกิดการผละงานประท้วงในยุโรป เพื่อเรียกร้องการขึ้นค่าจ้าง ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0898-1.1053 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/4) ที่ระดับ 1.0910/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (8/5) ที่ระดับ 134.95/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ ที่ระดับ 135.70/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินรอบประจำเดือนมีนาคม ซึ่งระบุว่ากรรมการ BOJ ได้หารือเกี่ยวกับความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่กรรมการ BOJ มีสัญญาณเชิงบวกที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและตัวเลขเงินเฟ้อมีแนวโน้มเคลื่อนตัวสู่เป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2%

นอกจากนั้นแล้ว นายคาซึโอะ อูเอดะ ประธานธนาคารกลางญี่ปุ่นได้กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะหยุดนโยบาย Yield curve control หากเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน ทางด้านโกลแมน แซ็กส์คาดว่าญี่ปุ่นจะยกเลิกนโยบาย Yield curve conlrol ในเดือนกรกฎาคม ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 133.75-135.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/4) ที่ระดับ 134.74/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ