ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงจีดีพีปี’66 โต 3.7% หลังไตรมาสแรกขยายตัว 2.7%

GDP

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการจีดีพีปี’66 ขยายตัว 3.7% หลังสภาพัฒน์ เผยจีดีพีไตรมาสที่ 1/66 ขยายตัว 2.7% เป็นไปตามคาด ชี้ แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว-การบริโภคเอกชน จับตา ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว-การจัดตั้งรัฐบาลใหม่

วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2566 ขยายตัวที่ 2.7% YOY ขณะที่เมื่อปรับฤดูกาลแล้วเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2566 ขยายตัวได้ 1.9% QOQ จากไตรมาสที่ผ่านมา ใกล้เคียงกับที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ตัวเลขจีดีพีของไทยในไตรมาส 1/2566 มีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้การส่งออกภาคบริการขยายตัวได้ถึง 87.8% YOY นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 5.4% YOY ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ชะลอลง

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2566 มีปัจจัยกดดันจากการส่งออกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ประกอบกับการอุปโภคของรัฐบาลที่หดตัว 6.2% YOY โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายเกี่ยวกับโควิดที่ลดลงอย่างมาก

เมื่อมองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ 3.7%

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ ปัจจัยภายในประเทศยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายภาครัฐในไตรมาส 4/2566 ได้

ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทิศทางนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางหลัก ประกอบกับปัญหาในภาคธนาคารของประเทศตะวันตก

ซึ่งส่งผลให้ภาพการค้าโลกในระยะข้างหน้ายังคงเผชิญแรงกดดันอยู่ แม้จะมีแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจจีนที่มีโมเมนตัมขยายตัวได้ดีหลังยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด


ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกไทยในภาพรวมในปีนี้มีแนวโน้มที่จะติดลบจากปีก่อนหน้า ในขณะที่ ในด้านปัจจัยในประเทศ ยังมีความเสี่ยงจากประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้การอนุมัติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 นั้นล่าช้าออกไป และกระทบการเบิกจ่ายของรัฐบาลในช่วงไตรมาส 4/2566 เป็นต้นไป รวมถึงยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการออกนโยบายต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าได้