บจ.โกยกำไรไตรมาสแรก 2.6 แสนล้าน-ยอดขายทะลัก 4.2 ล้านล้านบาท

ตลาดหลักทรัพย์ฯเผยกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 1/66 ลดลง 6.2% จากไตรมาส 1/65 เหลือ 261,116 ล้าน แต่ยอดขายยังเพิ่มขึ้น 4.6% อยู่ที่ 4,200,891 ล้านบาท ฟากตลาด mai กำไรรวม 2,153 ล้าน ลดลง 32% แต่มียอดขาย 52,334 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% ชี้หลังเปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อธุรกิจอาหาร การบริการ ขนส่ง การท่องเที่ยว และโทรคมนาคม

วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวน 786 บริษัท คิดเป็น 99.5% จากทั้งหมด 790 บริษัท (รวม SET และ mai ที่มีกำหนดส่งงบการเงิน ณ สิ้นงวด 31 มีนาคม 2566 และไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) นำส่งผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2566 พบว่ามี บจ.รายงานกำไรสุทธิ 590 บริษัท คิดเป็น 74.7% ของ บจ.ที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2566 เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน บจ.ใน SET มียอดขาย 4,200,891 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% มีต้นทุนการผลิต 3,320,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% กำไรจากการดำเนินงานหลัก (core profit) 410,246 ล้านบาท ลดลง 17.3% และมีกำไรสุทธิ 261,116 ล้านบาท ลดลง 6.2%

สำหรับฐานะการเงินของกิจการ ณ 31 มีนาคม 2566 บจ.ไทยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ratio (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ระดับ 1.52 เท่า ลดลงจาก 1.58 เท่า เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน

“การเปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อธุรกิจอาหาร การบริการ การขนส่ง การท่องเที่ยว และการโทรคมนาคม ทั้งนี้ กลุ่มธนาคารและธุรกิจการเงินยังได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การเร่งปรับตัวให้ทันต่อการกลับมาของธุรกิจทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งกว่ายอดขาย ส่วนหนึ่งจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ ส่งผลให้ บจ.มีอัตรากำไรลดลง” นายแมนพงศ์กล่าว

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนใน mai จำนวน 198 บริษัท คิดเป็น 96% จากทั้งหมด 206 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC และบริษัทที่ปิดงบไม่ตรงงวด) นำส่งผลการดำเนินงาน ไตรมาส 1/2566 พบ บจ.รายงานกำไรสุทธิจำนวน 142 บริษัท คิดเป็น 72% ของบริษัทที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 ของ บจ.mai เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มียอดขายรวม 52,334 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% ต้นทุนขาย 40,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เนื่องจาก บจ.สามารถควบคุมต้นทุนได้ดี ทำให้กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 3,293 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% และมีกำไรสุทธิรวม 2,153 ล้านบาท ลดลง 32% เนื่องจากในไตรมาส 1/2565 บจ.มีฐานสูงจากการขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 และมี บจ.ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมมีกำไรจากรายการพิเศษมูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากตัดรายการพิเศษของทุกบริษัทออก กำไรสุทธิรวมเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 34%

“ไตรมาส 1/2566 บจ.ส่วนใหญ่มียอดขายเติบโตตามการฟื้นตัวภายในประเทศ ภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย นอกจากนี้ บจ.ใน mai สามารถควบคุมสัดส่วนต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายได้ดี ทำให้อัตราการทำกำไรของ บจ.เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมี 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงเติบโตทั้งยอดขาย กำไรจากการดำเนินงาน และกำไรสุทธิ ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มเทคโนโลยี” นายประพันธ์กล่าว

ในส่วนของฐานะทางการเงิน บจ.mai มีสินทรัพย์รวม 324,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และโครงสร้างเงินทุนรวมดีขึ้น โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) อยู่ที่ 0.78 เท่า ลดลงจากเมื่อสิ้นปี 2565 ที่เท่ากับ 0.82 เท่า


ปัจจุบันมี บจ.ใน mai 206 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2566) ดัชนี mai ปิดที่ระดับ 484.95 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (market capitalization) อยู่ที่ 479,383 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 2,973 ล้านบาทต่อวัน