กสิกรไทยเปิดบริการ “ยุติปมขัดแย้งในครอบครัว” ตั้งเป้าโตสินทรัพย์ 5% จาก 1.8 แสนล้าน

นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร
นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head,Private Banking Group (เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง) ธนาคารกสิกรไทย

เคแบงก์ ไพรเวตแบงกิ้ง เปิดบริการ “แก้ไขความขัดแย้งของครอบครัว” หลังพบข้อมูลลูกค้าสินทรัพย์สูงกว่า 15% เผชิญความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัว เหตุจากการจัดการธุรกิจครอบครัวและทรัพย์สินกงสี ตั้งเป้าครึ่งปีหลังช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาท-ยุติปมความขัดแย้งในครอบครัว 10 ครอบครัว ชู 3 จุดเด่น พร้อมตั้งเป้าบริหารสินทรัพย์ครอบครัวเพิ่ม 5% จาก 1.8 แสนล้านบาท หรือ 790 ครอบครัว

วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group (เคแบงก์ ไพรเวตแบงกิ้ง) ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากความผันผวนและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และกฎกติกาของทางการ เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศ

สิ่งเหล่านี้มีผลต่อรายรับและรายจ่ายธุรกิจของลูกค้ามั่งคั่ง ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการวางแผนภาษี รวมถึงการจัดโครงสร้างธุรกิจให้เป็นระบบมากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา Private Banking Group ได้ให้บริการสำนักงานครอบครัว (Family Office) ปัจจุบันให้บริการลูกค้ารวมกว่า 4,000 ราย จากฐานลูกค้ารวม 1.2 หมื่นราย หรือประมาณ 790 ครอบครัว และมีมูลค่าทรัพย์สินครอบครัวภายใต้การบริหารงานกว่า 1.8 แสนล้านบาท โดยคาดว่าภายในปี 2566 น่าจะมีทรัพย์สินเติบโตเพิ่มขึ้น 5%

นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร

อย่างไรก็ดี จากการให้บริการลูกค้ารวมกว่า 4,000 ราย หรือประมาณ 790 ครอบครัว พบว่ากว่า 15% หรือประมาณ 15 ครอบครัวของลูกค้าที่มีความต้องการวางแผนการบริหารสินทรัพย์ครอบครัว ต้องเผชิญกับปมปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัวที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ และอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัวถึงขั้นสะดุดหยุดลงได้

ซึ่งหากธุรกิจครอบครัวของลูกค้าไม่สามารถไปต่อได้ อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย เนื่องจากจากรายงานพบว่ากว่า 80% ของจีดีพีไทยมาจากรายได้ของธุรกิจครอบครัว รวมถึงบริษัทจำนวน 3 ใน 4 ของธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจะเป็นกลุ่มธุรกิจครอบครัว ดังนั้น การรักษาและส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืนจึงถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ดังนั้น จากปัญหาดังกล่าว จึงได้เปิดตัวบริการใหม่ภายใต้ชื่อ “Reconciliation Service” หรือบริการแก้ไขความขัดแย้งของครอบครัว โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยใช้หลักจิตวิทยา ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้ามาช่วยลูกค้าให้สามารถยุติข้อพิพาทและหาทางออกร่วมกันเพื่อให้การจัดการกงสีและธุรกิจครอบครัวสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างราบรื่น

โดยตั้งเป้าภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่าจะช่วยให้บริการลูกค้าแก้ไขความขัดแย้งของครอบครัวได้ราว 10 ครอบครัวจาก 15 ครอบครัว เนื่องจากปัจจุบันธนาคารมีครอบครัวที่เข้ามาติดต่อแล้วจำนวนหนึ่ง โดยเฉลี่ยทรัพย์สินธุรกิจจะอยู่ในหลักพันล้านบาท

ซึ่งคาดว่าประมาณ 70-80% ลูกค้าสามารถยุติความขัดแย้งกันได้ ทั้งนี้ บริการดังกล่าวลูกค้าจะเสียค่าใช้จ่ายโดยตรงให้กับบริษัทภายนอกโดยตรง เช่น นักกฎหมาย และนักจิตวิทยา ซึ่งค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 4-5 แสนบาท

สำหรับจุดเด่นของบริการ “แก้ไขความขัดแย้งของครอบครัว” จะประกอบด้วย 3 จุดเด่น เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและยุติปมความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัว มีดังนี้

1.รักษาสายสัมพันธ์ครอบครัว : ความขัดแย้งที่ไม่อาจหาข้อสรุปได้ มักจะถูกยกระดับขึ้นเป็นการฟ้องร้อง ซึ่งจะสร้างรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามไปถึงจุดนั้น KBank Private Banking จึงนำผู้เชี่ยวชาญในการยุติความขัดแย้งที่มีประสบการณ์สูง ดึงหลักจิตวิทยาเข้ามาช่วยในการเจรจา ทำให้หลายครอบครัวสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีเอาไว้ได้

2.ยุติความขัดแย้งในระยะเวลาอันสั้น : ข้อได้เปรียบของบริการ Reconciliation Service คือ การช่วยย่นย่อทั้งระยะเวลาในการดำเนินการ รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นหากต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเต็มรูปแบบในชั้นศาล โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่ให้ความเห็นของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นกลางและครบถ้วน

3.จัดการกงสีและธุรกิจได้อย่างราบรื่น : เมื่อครอบครัวได้ทางออกในข้อพิพาทแล้ว ผู้เชี่ยวชาญของ KBank Private Banking สามารถช่วยจัดการวางแผนส่งต่อธุรกิจครอบครัวหรือจัดทำธรรมนูญครอบครัวใหม่ได้ในทันที ทำให้เกิดความราบรื่นและมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน

“บริการนี้จะให้บริการเต็มรูปแบบเดือนกรกฏาคมนี้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่รูปแบบความขัดแย้ง จะมีทั้งจากตกลงไม่ได้ระหว่างพี่น้อง และพันธมิตรทะเลาะกัน ซึ่งเราจะเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย โดยส่วนใหญ่ธุรกิจลูกค้าจะมีขนาดใหญ่หลักพันล้านบาทขึ้นไป”


“ซึ่งอาจจะมีการถือหุ้นร่วมกัน หรือมีที่ดินร่วมกัน ซึ่งการบริหารจัดการลูกค้าไทยจะแตกต่างจากต่างประเทศ เพราะลูกค้าสินทรัพย์สูงจะสามารถถือที่ดินได้โดยที่รัฐไม่กำหนดเหมือนต่างประเทศ เราจึงต้องมีเรื่องของทรัพย์สินที่ดินเข้ามาด้วย โดยในปีนี้เราคาดว่ามีการเติบโตของทรัพย์สินครอบครัวประมาณ 5% จาก 1.8 แสนล้านบาท”