ทริสเรทติ้งปรับลดเครดิต BTS เหตุหนี้พุ่งสูง-สัมปทานสายสีเขียวล่าช้า

BTS

ทริสเรทติ้ง ปรับลดอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “BTS” เป็น “A-” จากเดิม “A” พร้อมเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “คงที่” จากเดิมเป็น “ลบ” เหตุภาระหนี้สูงจากการลงทุน “ระบบขนส่งมวลชน-ซื้อกิจการ JMART-TNL” คาดใช้เวลาในการลดนาน ขณะที่สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่อล่าช้ามากขึ้น จากความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลชุดใหม่

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ได้ปรับลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นระดับ “A-” จากระดับ “A” ในขณะเดียวกัน ยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “stable” หรือ “คงที่” จาก “negative” หรือ “ลบ” ด้วย

ซึ่งสะท้อนถึงภาระหนี้ของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนต่าง ๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่แผนการลดภาระหนี้ของบริษัทนั้นใช้เวลานานกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้

ส่วนการเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งที่มีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง (O&M) ตามสัญญาและการฟื้นตัวของธุรกิจสื่อโฆษณา (media business) หลังจากผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าความเป็นไปได้ในการลงทุนในสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบริษัทจะล่าช้ายิ่งขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทานดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ ทริสเรทติ้งได้รวมผลกระทบที่จะมีต่อภาระหนี้ของบริษัท ซึ่งอาจเกิดจากการได้รับสัญญาสัมปทานใหม่ไว้ในการพิจารณาแนวโน้มอันดับเครดิตที่เป็น “negative” หรือ “ลบ” ด้วย

ภาระหนี้ของ BTS เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการระบบขนส่งมวลชนและการซื้อกิจการของ บมจ.เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (JMART) และ บมจ. ธนูลักษณ์ (TNL) ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย(EBITDA)

ซึ่งรวมภาระหนี้ที่ใช้เป็นเงินทุนสำหรับลูกหนี้ค้างรับจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 17.3 เท่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2566 (1 เม.ย.-31 ธ.ค. 2565)จากระดับ 16.3 เท่าในปีบัญชี 2565

โดยเมื่อได้มีการปรับปรุงบัญชีลูกหนี้ค้างรับจาก กทม. ออกจากภาระหนี้และรายได้ดอกเบี้ยจากลูกหนี้ค้างรับดังกล่าวออกจาก EBITDA แล้ว อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทที่ปรับปรุงแล้วจึงอยู่ที่ระดับ 13.8 เท่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2566 และอยู่ที่ระดับ 13.2 เท่าในปีบัญชี 2565

ในช่วงระหว่างปีบัญชี 2566-2569 บริษัทมีแผนการลงทุนประมาณ 2.98 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง กทม. น่าจะชำระค่าบริการงานจัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M Work) สำหรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้และส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ รวมถึงค่าจ้างในการให้บริการ O&M ที่ค้างอยู่ให้แบริษัทได้ในปี 2567

ขณะที่รถไฟฟ้ารางเดี่ยว 2 โครงการ (โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง) จะเปิดให้บริการเต็มเส้นทางในปี 2566 ซึ่ง BTS มีสัดส่วนการถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทร่วมทุน 2 แห่งร่วมกับผู้ร่วมทุน ภายใต้สัญญาสัมปทานในรูปแบบเอกชนได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้ (PPP-net cost) ที่ได้ลงนามไปเมื่อปี 2560 โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่ารถไฟฟ้ารางเดี่ยวแต่ละสายจะมีรายได้ประมาณ 1,900 ล้านบาทในช่วงปีบัญชี 2569

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และกระแสเงินสดจากการให้บริการ O&M ของบริษัทจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ BTS ให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงผ่านบริษัทลูก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2566 รายได้จากการให้บริการดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 4,600 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีบัญชี 2565

เนื่องจากอัตราค่าบริการส่วนใหญ่ถูกกำหนดแบบตายตัวไว้แล้วในสัญญา ดังนั้น รายได้จากการให้บริการ O&M จึงสามารถคาดการณ์ได้ในระดับสูงและไม่มีความเสี่ยงจากจำนวนผู้โดยสาร (ridership risk)

ทริสเรทติ้งประเมินว่า EBITDA ที่มาจากการดำเนินงานหลักของบริษัท ซึ่งไม่รวมรายได้ดอกเบี้ยรับจากงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง และรายได้ดอกเบี้ยรับที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้การค้าของ กทม. จะเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นประมาณ 7,300 ล้านบาทในปีบัญชี 2569 จากประมาณ 4,300 ล้านบาทในปีบัญชี 2566

ทั้งนี้ บริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือน ธ.ค. 2565 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 1.58 หมื่นล้านบาท และเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 3,100 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกจำนวน 2.03 หมื่นล้านบาทด้วย

โดยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 3,700 ล้านบาท

“ทริสเรทติ้งเชื่อว่าแหล่งเงินทุนดังกล่าวจะเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ของบริษัท ซึ่งประกอบด้วยภาระหนี้เงินกู้ระยะยาวในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวนประมาณ 1.27 หมื่นล้านบาท และหนี้ระยะสั้นจำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะได้รับวงเงินกู้ยืมใหม่เพื่อทดแทนวงเงินกู้ยืมระยะสั้นเดิม และในปีบัญชี 2567 นั้นบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวนประมาณ 1.27 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินทุนส่วนใหญ่จะมาจากเงินกู้โครงการ”

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้ง ยังได้ลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นระดับ “A-” จากระดับ “A” ในขณะเดียวกัน ยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “negative” หรือ “ลบ” ด้วย ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงสถานะในการเป็นบริษัทลูกหลักของ BTS