SCC บอร์ดไฟเขียว SCGD เพิ่มทุน 444.10 ล้านหุ้น รับแผนขายไอพีโอ

หุ้น

“ปูนซิเมนต์ไทย” บอร์ดไฟเขียวแผนให้ “เอสซีจี เดคคอร์” อนุมัติแผนออกหุ้นเพิ่มทุน 444.10 ล้านหุ้น รับแผนขายไอพีโอ-แลกหุ้น COTTO พร้อมแตกพาร์จาก 100 บาท/หุ้น เหลือ 10 บาท/หุ้น นำเงินระดมทุนขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ-ปรับโครงสร้างทางการเงิน-ชำระหนี้-ทุนหมุนเวียน ด้าน “SCC” ยืนยันยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2566 ได้มีมติอนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (SCGD) และการนำหุ้นสามัญของ SCGD เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ในรูปแบบบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ (Decor Surfaces and Bathroom) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยกำหนดสัดส่วนจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่จะเสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก จำนวนไม่เกิน 26.83% ของทุนชำระแล้วของ SCGD ภายหลังการเพิ่มทุนและการเสนอขายหุ้น IPO โดยคาดว่า SCGD จะนำเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อใช้ลงทุนในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ใช้ในการปรับโครงสร้างทางการเงิน ชำระหนี้บางส่วนของ SCGD และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของ SCGD รวมถึงวัตถุประสงค์อื่น ๆ

ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นผู้มีอำนาจควบคุมของ SCGD และ SCGD จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทเช่นเดิม

และอนุมัติการแปรสภาพ SCGD เป็นบริษัทมหาชนจำกัด และอนุมัติเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยการเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ของ SCGD และจำนวนหุ้นสามัญของ SCGD เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (การแตกพาร์)

คือปรับราคาพาร์จาก 100 บาทต่อหุ้น เป็น 10 บาทต่อหุ้น จำนวนหุ้นจาก 121.09 ล้านหุ้น เป็น 1,210.9 ล้านหุ้น ทุนจดทะเบียนจาก 12,109 ล้านบาท เป็น 16,550 ล้านบาท (อัตราส่วนจำนวน 1 หุ้นเดิมก่อนแตกพาร์ เป็น 10 หุ้นใหม่ ภายหลังการแตกพาร์) ทั้งนี้การแตกพาร์นี้จะไม่ทำให้จำนวนทุนจดทะเบียนของ SCGD เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

โดยจะมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนของ SCGD จำนวน 4,441 ล้านบาท จากเดิมจำนวน 12,109 ล้านบาท เป็นจำนวน 16,550 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 444.10 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อเสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)

ซึ่งการจัดสรรหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 444.10 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อเสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัท (Pre-emptive Right) ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีรายชื่อปรากฏอยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date) ที่จะได้กำหนดต่อไป

โดยคณะกรรมการบริษัทซึ่งมีที่อยู่ในการจัดส่งเอกสารอยู่ในประเทศไทย เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมตามดุลพินิจของ SCGD และตามที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย (ผู้ถือหุ้นของบริษัทเฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้น) (ถ้ามี) ผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) กรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือ พนักงาน บุคคลผู้มีความสัมพันธ์ของ SCGD และ/หรือ บริษัทย่อยของ SCGD ผู้มีอุปการคุณของ SCGD และ/หรือ บริษัทย่อยของ SCGD

รวมถึงการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายต่อผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) (ถ้ามี) และผู้ถือหุ้นของบริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) (COTTO) เพื่อชำระเป็นค่าตอบแทนในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ COTTO ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของ SCGD

ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติอนุมัติแผนปรับโครงสร้างดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 รวมทั้งเพื่อเป็นการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นของ COTTO ที่ประสงค์จะจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพิ่มเติม (ในกรณีที่สามารถดำเนินการได้) ตามที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมายและคณะกรรมการบริษัทของ SCGD เห็นสมควร

นอกจากนี้ ให้คณะกรรมการบริษัทของ SCGD สามารถนำหุ้นสามัญเพิ่มทุนบางส่วน เพื่อเสนอขายและจัดสรรให้แก่ผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) ในระหว่างการเสนอขายหุ้น IPO ตามที่คณะกรรมการบริษัทของ SCGD เห็นสมควร ในราคาเดียวกับที่จะเสนอขายประชาชนเป็นครั้งแรกตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ รายละเอียดอาจมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามที่คณะกรรมการของ SCGD และ/หรือ บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของ SCGD เห็นสมควร ซึ่งรวมถึงการกำหนดรายละเอียด เงื่อนไข สัดส่วนการเสนอขายและจัดสรรหุ้น IPO ข้างต้น ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาอีกครั้งในภายหลัง

อนึ่งการจัดสรรหุ้น IPO ดังกล่าวจะกระทำได้ต่อเมื่อ SCGD ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนเพื่อการเสนอขายหุ้น IPO มีผลใช้บังคับแล้ว

สำหรับการดำเนินการของ SCGD ประโยชยน์ต่อผู้ลงทุนคือ 1.ผู้ลงทุนจะสามารถเข้าใจกลยุทธ์และจุดเด่นของ SCGD ซึ่งเป็นบริษัทแกนนำ (Flagship Company) ของกลุ่มบริษัท สำหรับธุรกิจผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และสุขภัณฑ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศธุรกิจได้อย่างชัดเจนมากขึ้น รวมถึงเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุน โดยสามารถเลือกลงทุนในบริษัทหรือ SCGD ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับฐานมูลค่าของบริษัท

2.เพิ่มทางเลือกในการลงทุน โดยผู้ถือหุ้นสามารถเลือกลงทุนในบริษัทหรือ SCGD ได้ ตามแต่นโยบายลงทุน

ส่วนประโยชน์ต่อบริษัทคือ 1.ลดภาระของบริษัทในการสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ SCGD เนื่องจาก SCGD จะสามารถระดมทุนได้เอง ผ่านช่องทางตลาดทุน หรือช่องทางอื่น ภายหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว

และประโยชน์ต่อ SCGD คือ 1.เพิ่มช่องทางในการระดมทุนของ SCGD ในอนาคต ซึ่งทำให้ SCGD มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขยายธุรกิจให้กับ SCG

2.เพื่อนำเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้น IPO ไปใช้ลงทุนในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงใช้ในการปรับโครงสร้างทางการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนของ SCGD เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของ SCGD ในอนาคต

3.SCGD จะมีโครงสร้างการบริหารธุรกิจที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้การบริหารจัดการ การพัฒนาและการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

4.ราคาหุ้นของ SCGD จะสะท้อนปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจของ SCGD ได้ชัดเจนขึ้น หุ้นของ SCGD จะมีสภาพคล่องและตลาดรองรับในการซื้อขายหุ้น รวมทั้งมีราคาตลาดอ้างอิงสำหรับการซื้อขายหุ้น

5.ส่งเสริมชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ SCGD ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และในฐานะบริษัทแกนนำ (Flagship Company) ของกลุ่มบริษัทสำหรับธุรกิจผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และสุขภัณฑ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับ SCGD รายได้จากการขายช่วงไตรมาสแรกปี 2566 อยู่ที่ 7,277 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 113 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 40,582 ล้านบาท