
SCB EIC คาด กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในการประชุมเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้ สู่ระดับ terminal rate ที่ 2.5%
วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2% ต่อปี
- “ทรู-ดีแทค” ถล่มโปร “คืนค่าเครื่อง” ย้ำรวมกันได้มากกว่า
- กรมอุตุฯเตือน 21-27 ก.ย. กทม.-ภาคกลาง-ตอ. ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง
- หวั่น EV ไทย…ซ้ำรอยจีน
ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19 ได้ในช่วงกลางปีนี้ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมได้ฟื้นตัวมาอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนเกิด COVID-19 ราว -1.5% แล้ว แม้ภาคบริการจะยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 เกือบ -40% แต่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่าง ๆ ทั้งการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และภาคการผลิตปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนแนวโน้มที่ดีในระยะต่อไป ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง จากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ
SCB EIC คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในการประชุมเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้ สู่ระดับ Terminal rate ที่ 2.5%
โดนเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อของไทยที่แม้จะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูง (Upside risks) จากการส่งผ่านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภคที่จะคาดว่ายังอยู่ในระดับสูงตลอดปีนี้ และยังมีแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นโยบายการเงินไทยจึงมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับปกติที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ย Neutral rate ของไทยล่าสุดอยู่ที่ 2.5% ซึ่งเป็นระดับที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับศักยภาพและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท.
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) ของไทยยังคงติดลบต่อเนื่อง ซึ่งการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำเกินไปจะก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจ และเป็นการสะสมความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว
ดังนั้น กนง. จึงมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังระดับที่บทบาทนโยบายการเงินเป็นกลางมากขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับดังกล่าวเพื่อให้กลไกดอกเบี้ยนโยบายส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป
ทั้งนี้หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประเมินไว้ในปัจจุบัน กนง. อาจไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจนไปสู่ระดับ Neutral rate ได้ในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ แต่อาจต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไปแทน