ตลาดจับตาเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ตลาดจับตาการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐ ก่อนเส้นตายวันที่ 5 มิ.ย. 2566 ขณะที่ กนง.ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามคาด จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี มีผลทันที

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2566 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/5) ที่ระดับ 34.68/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (30/5) ที่ระดับ 34.76/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากแรงขายทำกำไรระยะสั้น

หลังช่วงบ่ายวานนี้บาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ภายหลังกระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขส่งออกไทย เดือนเมษายน ปรับตัวลง 7.6% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ในขณะที่ตัวเลขนำเข้าไทยเดือนเมษายน ปรับตัวลดลง 7.3% ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 1,471 ล้านเหรียญสหรัฐ

อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์ลดแรงบวกลง ภายหลังความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้สหรัฐ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อ ซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยตลาดยังคงจับตาการลงมติของสภาคองเกรสต่อร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ในคืนนี้ (3/15) อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะโหวตร่างกฎหมายดังกล่าวในคืนนี้ (31/5) ก่อนที่จะส่งต่อเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐ และหากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบก็จะส่งต่อให้ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโจ ไบเดน ลงนามในกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

อย่างไรก็ดี กระบวนการผ่านกฎหมายดังกล่าวจะต้องเสร็จสิ้นก่อนเส้นตายวันที่ 5 มิถุนายน 2566 มิฉะนั้นสหรัฐจะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐนั้น ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐประจำเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ระดับ 102.3 ซึ่งแม้ว่าลดลงจากระดับ 103.7 ในเดือนเมษายน แต่ยังสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 99.0

ในขณะที่ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ซิลเลอร์ บ่งชี้ว่าราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนีราคาบ้านเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมีนาคม โดยได้แรงหนุนจากสต็อกบ้านในระดับต่ำ ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมีนาคม โดยราคาบ้านเพิ่มขึ้นสูงสุดในเมืองไมอามี แทมปา และชาร์ลอตต์

ทั้งนี้ ดัชนีราคาบ้านปรับตัวขึ้น ขณะที่เฟดสาขาดัลลัส เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีชี้วัดกิจกรรมในภาคการผลิตของรัฐเท็กซัสออกมาที่ระดับ -29.1 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี และต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ -19.5 จากระดับ -23.4 ในเดือนเมษายน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.63-34.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/5) ที่ระดับ 1.0731/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (30/5) ที่ระดับ 1.0724/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยวันนี้ (31/5) เยอรมนี โดยระหว่างวันมีการเปิดเผยตัวเลขอัตราการว่างงานออกมาที่ระดับ 5.6% ซึ่งเท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0667-1.0736 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0667/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/5) ที่ระดับ 139.71/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (30/5) ที่ 140.17/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวันนี้ (31/5) มีการเปิดตัวเลขยอดค้าปลีกออกมาที่ระดับ 5.0% ในเดือนเมษายน ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 7.0%

ทางด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ นายมาซาโตะ คันดะ กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า ทางการจะตอบสนองเท่าที่จำเป็น เพื่อควบคุมความผันผวนที่มากเกินไป ท่ามกลางความระแวดระวังว่าทางการญี่ปุ่นอาจเข้าดำเนินการแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินเยน

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 139.30-138.97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 139.94/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ประจำเดือนเมษายน (31/5) และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (1/6) ในขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ที่สำคัญได้แก่ ตัวเลขประมาณการดัชนีเงินเฟ้อของเยอรมนี ประจำเดือนพฤษภาคม (31/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11/-10.6 สตางต์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.75/-7.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ