ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง หลังเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/5) ที่ระดับ 34.87/88 ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/5) ที่ระดับ 34.71/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ระดับ 104.00

โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (26/05) ทางสหรัฐได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นพื้นฐาน (Core PCE) ออกมาอยู่ที่ 0.4% เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งสูงกว่าในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 0.3% ในขณะที่เมื่อเทียบรายปี Core PCE จะอยู่ที่ 4.7% ซึ่งสูงกว่าในเดือนผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 4.6% นอกจากนี้ยอดขายสินค้าคงทนในเดือนเมษายน ออกมาอยู่ที่ 1.1% ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ -1.0% และจากการที่ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ในการประชุมเฟดครั้งถัดไปช่วงวันที่ 13-14 มิถุนายน เฟดอาจมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% นอกจากนี้ตลาดได้คลายกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐ หลังการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐและนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในการประชุมครั้งที่ผ่านมานั้นสามารถบรรลุข้อตกลงสำหรับการปรับขึ้นเพดานหนี้ได้แล้วในวันเสาร์ (27/05) ที่ผ่านมา

โดยข้อตกลงจะอนุมัติให้รัฐบาลขยายเพดานหนี้เป็น 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 แต่อย่างไรก็ตามข้อตกลงนี้สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติกันอีกครั้งในวันพุธที่ 31 พฤษภาคม และให้ทางวุฒิสภาพิจารณาภายในวันที่ 5 มิถุนายน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในช่วงนี้ค่าเงินบาทยังคงอยู่ในทิศทางอ่อนค่า โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น รวมถึงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสเงินทุนต่างชาติไหลออก 20,824 ล้านบาท เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนประเด็นที่น่าติดตามคือในวันพุธที่ (31/5) จะมีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

โดยคาดการณ์ว่า กนง.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2% เพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.67-34.88 ดอลลาร์สหรัฐ/บาท และปิดตลาดที่ระดับ 34.73/74 ดอลลาร์สหรัฐ/บาท

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดลาดเช้าวันนี้ (29/5) ที่ระดับ 1.0732/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/5) ที่ระดับ 1.0733/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทางธนาคารกลางของสหภาพยุโรปคาดการณ์ว่าในการประชุมครั้งหน้าอาจมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเงินเฟ้อของสหภาพยุโรปยังค่อนข้างอยู่ในระดับสูง โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0715-1.0744 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0715/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/5) ที่ระดับ 140.54/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/5) ที่ 139.68/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์

ทั้งนี้ในวันศุกร์ที่ผ่านมาได้มีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อรายปีอยู่ที่ 3.2% ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.4% โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 140.23-140.64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 140.24/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือน มี.ค. จาก S&P (30/5), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. (30/5), การเปิดรับสมัครและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือน เม.ย.จาก JOLTS (31/5) รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) (1/6), การจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP (1/6), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (1/6), ดัชนีภาคการผลิตเดือน พ.ค. จาก ISM (1/6), การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ค. (2/6)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.9/-10.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.6/-8.65 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ