ไขปมต่างชาติ เทขายหุ้นไทย “การเมือง-ดอลลาร์แข็ง-ราคาแพง” ผสมโรง

ต่างชาติเทขายหุ้นไทย

ปมต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง บ้างก็ว่า เกิดจากปัจจัยการเมืองในประเทศ ที่มีการเลือกตั้งใหม่ ได้พรรคการเมืองขั้วใหม่มาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หากติดตามตลาดหุ้นไทยมาตลอด ก็จะเห็นได้ว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยมาต่อเนื่อง

โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 มาถึงปัจจุบัน (ณ 25 พ.ค.) ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วเกือบ 9 หมื่นล้านบาท (ดูตาราง)

“ประกิต สิริวัฒนเกตุ” นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลด์) ที่ไหลออกตอนนี้ หลัก ๆ ก็มาจากเรื่องการเมือง แต่หากย้อนดูตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. 2566 จะเห็นว่าเป็นช่วงแรกที่ฟันด์โฟลว์ไหลออกจากหุ้นไทย เนื่องจากอยู่ในจุดน่าขาย

เพราะดัชนีปรับขึ้นตอบรับข่าวดี จากการที่จีนเปิดประเทศและความคาดหวังที่จะมีการเลือกตั้ง รวมถึงราคาหุ้น (valuation) ไทยที่แพงขึ้น จากกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาไม่ค่อยดี ก่อนที่จะเริ่มเห็นฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามาบ้างในช่วงก่อนเลือกตั้ง

“พอเลือกตั้งเสร็จ ก็ไม่ค่อยดีนัก เพราะไม่ชนะแบบแลนด์สไลด์ ทำให้ยังมีความไม่แน่นอน บวกกับความกังวลเรื่องนโยบายพรรคก้าวไกลที่อาจจะกระทบธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้เห็นแรงขายต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ต่างชาติขายหุ้นไทยก็อาจไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองเท่านั้น เพราะเขาขายมาตั้งแต่ต้นปี

จากราคาหุ้นที่แพง และหากย้อนดู 2 ปีที่ผ่านมาต่างชาติ ก็เข้ามาซื้อไปกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้ยังมีโอกาสที่จะขายออกได้อีกค่อนข้างมาก และยิ่งการเมืองไทยไม่แน่นอน ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะขายต่อ”

อย่างไรก็ตาม “ประกิต” มองว่า หุ้นไทยยังมีข่าวดี หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมสิ้นเดือน พ.ค.นี้ ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย ความกดดันเรื่องราคาหุ้นไทยก็จะลดลง ตลาดจึงอาจจะมีโอกาสดีดตัวขึ้นได้ ซึ่งประเมินดัชนี SET ปลายปีที่ 1,720 จุด

ถือว่าเป็นดัชนีสูงสุดที่มองไว้ของปีนี้ ถ้าการเมืองดี เศรษฐกิจดีมีโอกาสได้เห็น หรือแย่หน่อยก็ที่ 1,650 จุด ต่ำสุดมองที่ 1,490 จุด หากหลุด จะมีแนวรับใหญ่ที่ 1,425 จุด

ขณะที่ “ภราดร เตียรณปราโมทย์” รองผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ตอนนี้ประเด็นหลักที่ต่างชาติขายหุ้นไทย คือการเมือง จะเห็นได้จากช่วงต้นเดือน พ.ค. ก่อนเลือกตั้งที่ฟันด์โฟลว์เริ่มไหลเข้า แต่พอหลังเลือกจบกลับเห็นฟันด์โฟลว์ทยอยออกอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นว่าส่วนสำคัญมาจากการเมือง

ซึ่งประเมินฟันด์โฟลว์จะเคลื่อนไหวได้ 2 แบบ คือ 1.ไหลออกเรื่อย ๆ จนกว่าการเมืองมีความชัดเจน หรือจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ และ 2.หากหุ้นไทยปรับตัวลงมามาก และราคาหุ้นกลับมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ อาจจะมีนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนระยะยาวเข้ามาซื้อและทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามาได้

ตาราง ต่างชาติเทขายหุ้นไทย

“มองดัชนีสิ้นปีไว้ที่ 1,610 จุด ระยะยาวหากการเมืองมีความชัดเจน ก็มีโอกาสที่ต่างชาติจะหยุดขายและเข้ามาซื้อได้บ้าง แต่ระยะสั้นยังมีความไม่แน่นอน ต่างชาติก็น่าจะยังขายอยู่ ให้แนวรับที่ 1,490 จุด แต่หลังจากมีการเซ็น MOU จัดตั้งรัฐบาลไป ทำให้มีความมั่นใจขึ้นได้บ้าง ก็คาดว่าหุ้นอาจจะไม่ได้ลงแรงจนหลุด 1,500 จุดอีก”

ฟาก “สุนทร ทองทิพย์” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ความไม่แน่นอนเรื่องการเมืองทำให้นักลงทุนต่างชาติน่าจะยังขายออกอยู่ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลที่อาจจะไม่ได้เอื้อตลาดทุน เช่น การปรับขึ้นภาษีและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่อาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมในเดือน มิ.ย.หรือ ก.ค. ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินทุนไหลออก เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า

“1 สัปดาห์ที่ผ่ามา เห็นชัดว่าฝั่งเอเชียมีแค่ไทยกับเวียดนามที่ฟันด์โฟลว์ไหลออก ขณะที่อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, อินเดีย, ไต้หวัน ฟันด์โฟลว์ไหลเข้า นี่เป็นจุดที่ชัดเจนเลยว่า ต่างชาติยังไม่สนใจตลาดหุ้นไทยตอนนี้ อย่างไรก็ตาม

แม้ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จและพรรคก้าวไกลได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ฟันด์โฟลว์อาจไหลกลับเข้ามาไม่เยอะ เพราะนโยบายพรรคก้าวไกลค่อนข้างที่จะส่งเสริมรายย่อย SMEs มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ในตลาด เป็นนโยบายที่ไม่ค่อยเอื้อต่อตลาดทุนนัก”

ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวด้วยว่า บล.กสิกรไทย คงเป้าดัชนี SET สิ้นปีอยู่ที่ 1,666 จุด และรอดูช่วงเดือน ส.ค.ที่การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น ว่าจะออกมาหน้าตาแบบไหนและมีการดำเนินนโยบายต่อไปอย่างไร ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยว่าจะปรับขึ้นต่อไปได้ไกลแค่ไหน ส่วนจุดต่ำสุดมองที่ 1,490 จุด คาดว่าไม่น่าจะหลุด