ต่างชาติขายหุ้นไทยเดือน พ.ค. ทะลุ 3 หมื่นล้าน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

ตลาดหุ้น

ตลท.ชี้ตลาดหุ้นไทยเดือน พ.ค. ผันผวน แต่ดัชนียังปรับตัวได้ดีปิดที่ 1,533.54 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อนหน้า ด้านต่างชาติขายเป็นเดือนที่สี่สุทธิ 33,407 ล้านบาท ระยะถัดไปแนะจับตานโยบายเฟด ประกอบกับการลดกำลังการผลิตน้ำมันอาจทำให้ความกังวลเงินเฟ้อกลับมาอีกครั้ง

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในเดือนพฤษภาคมค่อนข้างมีความผันผวน ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ

โดยปัจจัยภายนอกคือเรื่องของการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐ ที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นหลายประเทศปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม การเจรจาขยายเพดานหนี้บรรลุข้อตกลงและจบลงภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดี

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศคือเรื่องของการเลือกตั้งที่จบลง แต่ยังความไม่แน่นอนในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวนในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติคาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องและมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อสูงเริ่มจำกัด ส่วน Forward P/E  ก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตทำให้ผู้ลงทุนบุคคลและสถาบันในประเทศซื้อสุทธิใน 5 เดือนแรก

โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 SET Index ปิดที่ 1,533.54 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 8.1% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยปรับไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นใน ASEAN โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มการเงิน กลุ่มบริการ และ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ในส่วนของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 54,189 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 31.6% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในห้าเดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 60,933 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่สี่ โดยในเดือนพฤษภาคม 2566 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 33,407 ล้านบาท  อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13

นอกจากนี้ Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 16.1 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.5 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 20.8 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.1 เท่า

นายศรพลกล่าวเพิ่มเติม สำหรับภาพตลาดหุ้นไทยระยะถัดไปสิ่งที่สำคัญก็คงต้องกลับไปดูเรื่องเดิมคือเรื่องของการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพราะยังเป็นประเด็นที่ตลาดจับตามอง ประกอบกับเรื่องของการลดกำลังการผลิตน้ำมัน อาจส่งผลทำให้ความกังวลในเรื่องของเงินเฟ้อกลับมาอีกครั้ง

ขณะที่ฟันด์โฟลว์ที่ไหลออกก็มองว่าเป็นเรื่องปกติเพราะเมื่อมีความเสี่ยงเกิดขึ้นเงินก็จะไหลไปที่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็คงต้องรอติดตามต่อไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


ภาวะตลาดหุ้นไทย พ.ค.66