สมาคมแบงก์ชี้ “เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยเพิ่ม” ฉุดสินเชื่อบ้านชะลอ

ผยง ศรีวณิช
ผยง ศรีวณิช

“ผยง” ประธานสมาคมธนาคารไทย ชี้พร้อมประคองลูกหนี้หลังต้นทุนดอกเบี้ยขยับขึ้น ระบุเห็นสัญญาณสินเชื่อบ้านใหม่ชะลอ ย้ำเอ็นพีแอลยังอยู่ในกรอบ มอง ธปท.คุมเช่าซื้อสร้างความเท่าเทียมผู้เล่น ด้าน สอท.มองตั้งรัฐบาลล่าช้า หวั่นกระทบความเชื่อมั่น-ท่องเที่ยวปลายปี ฉุดจีดีพีเหลือโต 1-2%

วันที่ 7 มิถุนายน 2566 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า สำหรับผลกระทบจากต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของดอกเบี้ยต่อความสามารถในการชำระหนี้นั้น ปัจจุบันธนาคารพยายามประคองลูกหนี้ในกลุ่มเปราะบางให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปให้ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มเห็นสัญญาณผลกระทบต่อลูกค้าสินเชื่อบ้านใหม่ที่ชะลอตัวลง แต่ผลไม่เท่ากับสินเชื่อเพื่อการบริโภค เช่น เช่าซื้อและลีสซิ่ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ทิศทางดอกเบี้ยและต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น ธนาคารยังมั่นใจว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังอยู่ในกรอบที่บริหารจัดการและควบคุมได้ เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินยังมีมาตรการและเครื่องมือรองรับ เช่น มาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืนที่พร้อมจะประคองและช่วยเหลือลูกค้า ซึ่งมาตรการไม่ได้เป็นแบบเหมาเข่ง แต่แก้ปัญหาเฉพาะจุด และหากไม่เพียงพอก็พร้อมจะทำเพิ่มเติม

สำหรับการเข้ามาดูแลสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าเพื่อสร้างความเท่าเทียมกับผู้ให้บริการทั้งระบบ

“ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเราก็เห็นสัญญาณผลกระทบในสินเชื่อบ้านใหม่ที่ชะลอลง แต่หากดูภาพรวมการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยยังชำระได้ อย่างไรก็ตามในระยะสั้นเราต้องประคอง และปรับโครงสร้างหนี้ยั่งยืนให้ลูกค้า และในระยะกลางเราต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานการเงินให้ลูกค้า ซึ่งต้องมาในมิติรายได้ด้วย”

นายผยงกล่าวว่า สิ่งที่ กกร.ยังคงติดตามและเป็นปัจจัยที่พึ่งระวัง คือ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจากกรอบประมาณการอยู่ที่ 2.7-3.2% ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 2.00% ต่อปี และมีโอกาสจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพื่อรักษาเสถียรภาพอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่อาจจะกระทบต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า จะเป็นเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำหากมีการปรับขึ้น 450 บาทต่อวัน จะกระทบต่อเงินเฟ้อให้ปรับเพิ่มขึ้น 0.82% หรือการเพิ่มขึ้นของค่าแรงทุก 10% จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อราว 0.3% ส่วนการปรับค่าแรงจะมีผลมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการปรับขึ้นค่าแรง แต่ปัจจุบันยังอยู่ในกรอบประมาณการในปีนี้

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้เป็นไปตามไทม์ไลน์หรือล่าช้าไปจากเดือนสิงหาคมย่อมมีผลทางเศรษฐกิจ โดยมองว่ากรณีล่าช้าไป 1-3 เดือนอาจจะยังไม่มีผลมากนัก แต่หากล่าช้าไปนานกว่า 6-12 เดือน จะมีสร้างความเสียหายทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศในเรื่องของเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เพราะหากสถานการณ์การเมืองนิ่งจะทำให้การตัดสินใจในการลงทุนง่ายขึ้น แต่ลากยาวกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน

ทั้งนี้ หากประเมินผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ซึ่งปัจจุบัน กกร.มองอยู่ในกรอบ 3-3.5% แรงขับเคลื่อนมาจากภาคการท่องเที่ยว โดยในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน มีรายได้กว่า 2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของจีดีพี ซึ่งมีการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้อยู่ที่ 30 ล้านคน หรือประมาณ 9-10% ของจีดีพี หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าและมีการประท้วงจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนสุดท้าย และผลต่อการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติ ทำให้เศรษฐกิจจะขยายตัวเหลือเพียง 1-2% เท่านั้น

“เราคาดหวังว่าให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามไทม์ไลน์ เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูประเทศและเศรษฐกิจ พร้อมมาตรการกระตุ้นการบริโภคและลดค่าครองชีพ อย่างไรก็ดี หากการจัดตั้งล่าช้าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามามหาศาลในช่วงปลายปี

และหากลากยาวจนมีการประท้วงจะกระทบต่อจีดีพีที่คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่าคาดเหลือ 1-2% ซึ่งขึ้นกับเหตุการณ์และความยาวของการจัดตั้ง และจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงปี 2567 เดิมที่คาดว่าจะฟื้นตามรอบก็ไม่ฟื้น เช่น FDI และการย้ายฐานการผลิตก็ไม่มา ถ้าล่าช้า 1-2 เดือนเขารอได้ แต่ถ้าดีเลย์ไป 6-12 เดือนอาจจะย้ายไปที่อื่นได้”