STARK เส้นตาย 9 ก.ค. สะเทือนตลาดหุ้นกู้ ผู้เสียหายช็อกเบี้ยวหนี้

วิบากกรรม STARK ยังคงต้องติดตามกันต่อเนื่อง หลังเขย่าตลาดทุนไทย สะเทือนผู้ถือหุ้น นักลงทุนหุ้นกู้ รวมถึงเจ้าหนี้แบงก์ เสียหายนับหมื่นล้าน ล่าสุดได้รับรายงานความเสียหายจากนักลงทุนหุ้นกู้กว่า 4,500 ราย ซึ่งเสี่ยงถูกเบี้ยวหนี้

วันนี้ “Prachachat Wealth” เล่าเรื่องการลงทุน ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ คุณศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ จากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ที่จะมาร่วมพูดคุยอัพเดตความคืบหน้ากับเหตุการณ์ต่าง ๆ ของ STARK และมองแนวโน้มกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นกู้หรือไม่ วันนี้ไปร่วมรับชมรับฟังกันเลยครับ

Q : หลังจากนี้กระบวนการผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ของ STARK รวมถึงอัพเดตผู้เสียหายการลงทุนหุ้นกู้ STARK ?

คุณศิรินารถกล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ของ STARK ทั้ง 5 รุ่น ซึ่งผลการประชุม หรือมติที่ประชุมออกมาบอกว่าหุ้นกู้ 2 รุ่น ก็คือ STARK239A ที่จะครบอายุปีนี้ เดือนกันยายน และ STARK249A รวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 2 พันกว่าล้าน

ผู้ลงทุน 2 รุ่นนี้ Call Default เลย และ Accelerate ก็คือเรียกให้ STARK จ่ายเงินคืนโดยทันทีเลย ไม่ต้องรอให้ถึงวันครบกำหนด ส่วนอีก 3 รุ่น ยกเว้นเหตุผิดนัดให้ ก็คือถือว่าไม่เป็นเหตุผิดนัด นั่นคือข้อมูลล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ADVERTISMENT

ฉะนั้นกระบวนการหลังจากนี้ ก็คือ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ของ 2 รุ่น ที่ Call Default ไป หรือที่นักลงทุนไม่ wave เหตุผิดนัดให้ ก็คือน่าจะเป็น KBANK เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ของ 2 รุ่นนั้น

ก็จะมีไทม์ไลน์ว่าภายใน 5 วัน นับจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 จะต้องมีหนังสือแจ้งไปทาง STARK ให้ชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ลงทุน ภายใน 30 วัน นับจากที่ได้หนังสือ ซึ่งเบ็ดเสร็จ 5 วันทำการ บวกกับอีก 30 วัน ก็อย่างช้าที่สุดก็คือ ต้องภายในประมาณวันที่ 9-10 กรกฎาคม 2566

ADVERTISMENT

ผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK 4.5 พันราย

ส่วนนักลงทุนที่ถือในหุ้นกู้ 2 รุ่น ที่ Call Default ไปแล้ว รวม ๆ แล้ว ข้อมูลจากสำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งว่าอยู่ที่ประมาณ 4,528 ราย เป็นนักลงทุนสถาบัน 7 ราย และที่เหลือก็จะเป็นนักลงทุนบุคคลที่เป็น High Net Worth ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นตัวกลางในการติดต่อ ข้อมูล หรือความคืบหน้า ประสานงาน ในเรื่องของการเรียกร้องเงินต้นคืนให้ระหว่างนักลงทุนกับทางผู้ออก

Q : ปมปัญหา STARK เริ่มเห็นสัญญาณลุกลามในระบบตลาดหุ้นกู้หรือไม่ ?

คุณศิรินารถกล่าวอีกว่า ถ้าสัญญาณในการลุกลามในตลาดตราสารหนี้ สัปดาห์นี้ก็ยังอาจจะมีบางผู้ออกที่อาจจะเรตติ้งไม่สูงนัก และแยกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่อาจจะไม่สูง แต่เป็นที่รู้จักของนักลงทุน กลุ่มนี้ก็ยังได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุน ก็ยังสามารถที่จะขายหุ้นกู้ได้จนครบวงเงินอยู่

แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเรตติ้งไม่สูงมากนัก แต่อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักของนักลงทุนเท่ากลุ่มแรก ก็อาจจะเริ่มเห็นว่าเริ่มขายไม่เต็มวงเงินอยู่บ้าง นั่นคือสถานการณ์ทางฝั่งผู้ออก

ส่วนของนักลงทุน จากฟีดแบ็กที่เราเข้ามาสืบหรือติดตามในช่องทางต่าง ๆ นักลงทุนจะค่อนข้างตื่นตัวกัน ก็จะมีการถามเข้ามาแล้วว่าเรตติ้งไม่สูง แต่รายนี้เริ่มลงทุนได้มั้ย จะน่าเชื่อถือมั้ย เรตติ้งนี้เป็นยังไง คือเริ่มมีความกังวลหรือเขาเรียกว่าความรอบคอบในการที่จะเลือกลงทุนในหุ้นกู้มากนอกเหนือจากที่จะพิจารณาแต่ Coupon (ดอกเบี้ยหน้าตั๋ว) ที่ให้สูง

“จะเริ่มเห็นว่ามี Concern เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เห็นถึงขนาดว่าเพนิกแล้วเกิดแบบปฏิเสธการซื้อหุ้นกู้เรตติ้งต่ำไปเลย หรือเทขายออกมาแบบนี้ สถานการณ์ยังไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น ก็แค่เกิดตระหนักว่าความเสี่ยงในเรื่องของการผิดนัดชำระ เป็นความเสี่ยงใหญ่ของการลงทุนในหุ้นกู้ แล้วความเสี่ยงนี้ก็จะเพิ่มขึ้น ถ้าเรตติ้งหรืออันดันเครดิตของผู้ออกต่ำลง เราเริ่มเห็นสัญญาณประเด็นนี้อย่างมาก”

Q : อัพเดตหุ้นกู้ที่มีปัญหา โดยเฉพาะหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ถ้าดูในอดีตกับปีนี้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ?

ถ้าเทียบกับปี 2019 ก่อนที่จะเกิดโควิด ตอนนี้จะมีหุ้นกู้ผิดนัดชำระอยู่ที่ประมาณ 5 บริษัท มูลค่าหนี้ 13,000 ล้านบาท กับอีกกลุ่มหนึ่งที่หุ้นกู้ที่มีการยืดอายุ หรือปรับโครงสร้างหนี้ อยู่ประมาณ 2 บริษัท รวมแล้วประมาณ 1,500 ล้านบาท หรือรวมทั้งสองกลุ่มแล้วจะอยู่ประมาณ 14,400 ล้านบาท

หุ้นกู้ผิดนัด-ปรับโครงสร้างหนี้ 3.8 หมื่นล้าน

จนมาถึงประมาณสิ้นเดือนพฤษภาคม ตัวเลขนี้ก็ดูว่าจะปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณรวม ๆ 38,000 ล้านบาท ก็จะเป็นหุ้นกู้ในกลุ่มที่มีการยืดอายุหรือปรับโครงสร้างหนี้ จาก 2 บริษัท เพิ่มมาเป็น 15 บริษัท มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท กับอีกกลุ่มหนึ่งก็คือมีการผิดนัดชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย รวมแล้วคือ 9 บริษัท อยู่ที่ 24,000 ล้านบาท รวมแล้วทั้งสองประเภทนี้ก็อยู่ที่ 38,700 ล้านบาท

ซึ่งในกลุ่มนี้เอง บางบริษัทที่มีการ Default หรือยืดอายุ เราจะเห็นว่าหลาย ๆ บริษัทได้พยายามที่จะทยอยชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย บางบริษัทยืดครั้งที่ 1 ยืดครั้งที่ 2 หรือยืดครั้งที่ 3 แต่เขาทยอยชำระเงินต้น 20%, 30%

“เราเห็นพัฒนาการของผู้ออกในกลุ่มนั้นมากกว่าที่จะเงียบหายไปเลย หรือว่าหลีกเลี่ยงที่จะจ่าย อันนั้นเรายังไม่เห็น เห็นแต่ความพยายามที่จะจ่าย แต่เนื่องจากว่าติดขัดในเรื่องของการดำเนินงาน หรือความผิดพลาดในการดำเนินธุรกิจจริง ๆ อย่างนี้มากกว่า”

Q : วิธีการหรือข้อควรระวังก่อนจะตัดสินใจลงทุนหุ้นกู้ ต้องมองอะไรบ้าง ?

คือมองตัวเราเป็นหลักเลยว่าวัตถุประสงค์การลงทุนตรงนี้ ต้องการที่จะหาผลตอบแทนแล้วรับความเสี่ยงได้ หรือเราต้องการที่จะลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนแต่รักษาเงินต้น เพราะฉะนั้นตรงนี้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้กับเงินก้อนนั้น

อันดับเครดิตจริง ๆ เป็นปัจจัยหลักและก็ความเสี่ยงหลักของการลงทุนในหุ้นกู้ เพราะฉะนั้นไปเลือกหุ้นกู้ที่ระดับความเสี่ยงสอดคล้องกันและยอมรับได้ โดยอาจจะดูจากอันดับเครดิต ซึ่งอันดับเครดิตที่นักลงทุนตอนนี้กำลัง Question ? มากว่ายังน่าเชื่อถืออยู่หรือเปล่า

ซึ่งจริง ๆ ก็ยังไม่อยากจะให้ดูแคลนตัวอันดับเครดิต เพราะโดยรวมแล้วอันดับเครดิต เขาก็ยังสามารถทำหน้าที่ในการสะท้อนความเสี่ยงของหุ้นกู้หรือของผู้ออกได้ดีอยู่ เพียงแต่ว่าอาจจะเป็นข้อมูลที่ไม่ใช่สมบูรณ์ 100% ซึ่งเราก็พยายามจะบอกแบบนั้นมาอยู่ตลอดว่า

นอกจากอันดับความเสี่ยงแล้ว นักลงทุนอาจจะต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นเพิ่มเติม เช่น งบการเงินของบริษัทที่ผ่านมา รวมถึงวัตถุประสงค์การใช้เงินในการออกหุ้นกู้รุ่นนั้น ๆ ว่าเขาต้องการนำไปขยายกิจการหรือนำไปโรลโอเวอร์

และดูพฤติกรรมโรลโอเวอร์ว่าเขามีพฤติกรรมการกู้สั้น แต่ไปลงทุนยาว อะไรแบบนี้ ซึ่งอันนั้นดูเหมือนจะมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะกู้เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้เงินหรือเอาไปลงทุน

กับอีกอย่างหนึ่งคือธรรมาภิบาล แนวทางการบริหารงานของผู้บริหาร ซึ่งถ้าเราพิจารณาโดยรวมประกอบกัน น่าจะช่วยลดความเสี่ยง หรืออาจจะเป็นการดูที่รอบด้านมากขึ้น