ส่องกำไรไตรมาส 1-2 ปีนี้ 800 บริษัทในตลาดหุ้นไทย เติบโตหรือชะลอ ?

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ได้ประกาศงบฯกำไรงวดไตรมาส 1 ปี 2566 ออกมาทั้งหมดแล้ว วันนี้ “Prachachat Wealth” เล่าเรื่องการลงทุน

ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ “คุณสุนทร ทองทิพย์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ จากบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย

ว่า เซ็กเตอร์ไหนที่สามารถทำกำไรเติบโตได้อย่างโดดเด่น รวมไปถึงจะร่วมพูดคุยถึงแนวโน้มกำไรในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าจะได้เซ็นติเมนต์เชิงบวกจากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัว แต่ยังถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอ รวมไปถึงความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะมีผลต่อประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยหรือไม่ วันนี้ไปร่วมค้นหาคำตอบกันครับ

Q : เซ็กเตอร์ที่มีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นไทย ทิศทางกำไรถือว่าฟื้นตัวหรือชะลอตัวลง ?

ภาพรวมของงบฯไตรมาส 1 ออกมาดีกว่าที่คาด ถ้าเราดูจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 รวมกันอยู่ที่ 266,402 ล้านบาท เติบโต 13.6% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และเติบโต 57.4% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ถ้าดูเทียบกับคาดการณ์ก่อนหน้าของนักวิเคราะห์ ต้องบอกว่าดีกว่าทั้งของเราและของ Bloomberg Consensus ประมาณ 5-10%

เซ็กเตอร์ที่รายงานกำไรดี ๆ ก็จะเป็นเซ็กเตอร์ที่เน้นเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือการฟื้นตัวหลังโควิด เราก็จะเห็นว่าเซ็กเตอร์ที่กำไรโตทั้ง QOQ, YOY ก็จะมีอย่างธนาคาร, ค้าปลีก, อุตสาหกรรมท่องเที่ยว, โรงเรียนนานาชาติ รวมถึงเซ็กเตอร์วัสดุก่อสร้าง (construction material) พวกนี้ถือว่าฟื้นตัวได้ค่อนข้างดีตามกำลังซื้อนะครับ

แต่ถ้าเราดูในเชิงบางเซ็กเตอร์ที่มีการชะลอตัวบ้าง ที่ลิงก์กับในประเทศ อย่างเช่น อสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นเพราะว่าตัวของต้นทุนที่ปรับขึ้น ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาขายได้ทัน เลยทำให้มาร์จิ้นจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่เราเชื่อว่าสถานการณ์จะคลายตัวดีขึ้น

ในฝั่งที่แย่กว่าที่คาดบ้างนะครับ ต้องบอกว่าเซ็กเตอร์ที่กำไรออกมาแย่ หลัก ๆ จะเป็นเซ็กเตอร์ส่งออก ไม่ว่าจะเป็นส่งออกอาหารทะเล ส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง พวกนี้งบฯค่อนข้างอ่อนแอ (weak) เพราะว่าผู้ประกอบการในต่างประเทศที่เป็นลูกค้าเขามีการชะลอคำสั่งซื้อ

เพราะว่าตัวของดีมานด์หรืออุปสงค์ปลายทางของลูกค้า โดยเฉพาะในตะวันตกเริ่มชะลอตัว จากสถานการณ์ของเศรษฐกิจที่ชะลอ เพราะฉะนั้นก็เลยทำให้ลูกค้ามีการลดสต๊อก และมีผลกระทบมาถึงโรงงาน และหุ้นที่หลีกเลี่ยงการส่งออก

อีกเซ็กเตอร์หนึ่งไม่พูดก็ไม่ได้ก็คือเซ็กเตอร์พลังงาน ต้องบอกว่าเป็นเซ็กเตอร์ที่ผลประกอบการออกมาติดลบในเชิง YOY เนื่องจากว่าตัวของราคาพลังงานมีการปรับตัวลง แต่ภาพรวมถือว่าออกมาแย่น้อยกว่าคาด แต่ก็ต้องบอกว่าภาพในปีนี้ราคาพลังงานที่ลงมาก็จะเป็นตัวกดดัน

Q : แนวโน้มกำไร บจ. ไตรมาส 2 ปีนี้ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอ-ช่วงรอยต่อการจัดตั้งรัฐบาล

อันนี้เป็นคำถามแบบผม let’s say ว่า มีประมาณ 2-3 คำถามในคำถามเดียว เดี่ยวผมจะขออนุญาตแยกตอบละกัน เรื่องแรกคือแนวโน้มในไตรมาส 2 ผมคิดว่าภาพรวมกำไรของบริษัทจดทะเบียนน่าจะออกมาใกล้เคียงหรือดีกว่าไตรมาสแรก

กำไรไตรมาส 2 กลุ่ม domestic โมเมนตัมดีต่อ

ผมอ่านว่าเซ็กเตอร์ที่เป็น domestic หรือว่าในประเทศแนวโน้มโมเมนตัมยังดีต่อ เพราะถ้าดูสถานการณ์ในไตรมาสที่ 2 แบงก์ชาติเองก็มองว่าการบริโภคในประเทศโมเมนตัมดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ฟื้นตัว เม็ดเงินที่ไหลลงไปในระบบเศรษฐกิจในช่วงเลือกตั้ง และก็เราคาดว่าน่าจะต่อเนื่อง การท่องเที่ยวก็ดีขึ้น ไม่ว่าจะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวเริ่มนิ่ง ๆ ที่ประมาณ 2 ล้านคนต่อเดือน แต่ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเซ็กเตอร์ที่เป็น domestic ยังไปได้

ในส่วนของเซ็กเตอร์ส่งออก แนวโน้ม (outlook) ทรง ๆ แต่บางตัวอาจจะยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นผมประเมินคร่าว ๆ ว่า กำไรไตรมาส 2 ผมอ่านว่าน่าจะใกล้เคียงกับไตรมาสแรก แต่ก็ถือว่าค่อนข้างดี เพราะว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย ถ้าเราเห็นตัวเลขประมาณ 2.5-2.6 แสนล้านบาท ผมถือว่าโอเคแล้ว แม้ว่ายังไม่ได้โตเยอะ แต่ว่าถือว่าโอเค

คำถามที่สองคือถามว่าด้วยสถานการณ์ ณ ปัจจุบันตอนนี้ที่มีรอยต่อในช่วงหลังเลือกตั้ง และต้องไปรอลุ้นการตั้งรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าถ้าดูจากไทม์ไลน์ เราเห็นแล้วว่าต้องรอ กกต.รับรองผล และตั้งประธานสภา และตามมาด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรี แน่นอนว่าเร็วสุดเราจะเห็นนายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณสิงหาคม เพราะฉะนั้นจากนี้ไปถึงสิงหาคมในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่มี เพราะว่าจะมีแค่การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำปกติตามปีงบประมาณที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องติดตามก็คือว่า และก็ต้องภาวนานะครับว่าไทม์ไลน์ที่เราคุยกันจะไม่ดีเลย์ไปมากกว่านี้ แต่ว่าอย่างไรก็ตามเท่าที่เราเช็กกับทางศูนย์วิจัยกสิกรฯเขาก็ประเมินว่า GDP ปีนี้คาดไว้ 3.7% อันนี้เขารวมแล้วว่าการตั้งรัฐบาลอาจจะล่าช้าไปหน่อยหนึ่ง และก็งบประมาณกว่าจะผ่านได้จะเป็นช่วงสิ้นปี แต่ถ้าเลยจากไทม์ไลน์ที่คุยกันจะมีดาวน์ไซด์กับตัว GDP แต่ว่าจะเป็นปีหน้า ปีนี้เราคิดว่า 3.7% เป็นไปได้ครับ

Q : จะมีผลเอฟเฟ็กต์ต่อประมาณการกำไรมั้ย ถ้าสมมุติดีเลย์ออกไปกว่าคาดการณ์เดิม

คือต้องบอกว่าเวลาเราคุยเรื่องของกำไรสุทธิ เมื่อกี้ที่เราคุยเป็นตัวเลขล้านบาท ก็คือ 2.5 แสนล้านบาท ทั้งปีก็ประมาณ 1 ล้านล้านบาท แต่เวลานักวิเคราะห์เราคุยในเชิงการทำ valuation ตลาด เราจะใช้กำไรต่อหุ้น (EPS) ซึ่ง EPS ที่เราใช้จะไป benchmark กับ Bloomberg เพราะว่า Bloomberg มีหุ้นที่ coverage ในตลาด ก็คือเอา consensus ทั้งหมดมารวมกัน ล่าสุดที่ผมดูตัวเลข ต้องยอมรับว่านะครับว่า EPS ตลาดถูกหั่นลงมาเรื่อย ๆ ล่าสุดของปีนี้อยู่ที่ 95 บาทต่อหุ้น ปีหน้าอยู่ที่ 106.5 บาทต่อหุ้น

ก็ต้องบอกว่าถ้าเป็นคำถามที่คุณบิ๊กถามผมเมื่อกี้ว่า ตัว EPS ปีหน้า ถ้าเกิดตั้งรัฐบาลดีเลย์ ปีหน้ามีผลแน่นอน เพราะต้องไม่ลืมนะครับว่า การดีเลย์เรื่องการตั้งรัฐบาลแลการเบิกจ่ายงบประมาณ ไม่ใช่กระทบแค่เฉพาะการลงทุนภาครัฐ แต่การลงทุนภาคเอกชนก็ได้รับกระทบเหมือนกัน ตรงนี้ต้องจับตาอีกที แต่ว่าก็ลุ้นว่าให้ตั้งได้ประมาณช่วงสิงหาคม ผมว่าโอเคเลย

Q : ฝากคำแนะนำการลงทุนในช่วงตลาดหุ้นตก จากรอยต่อการจัดตั้งรัฐบาล-ฟันด์โฟลว์ไหลออกต่อเนื่อง

ถ้าเกิดให้แนะนำ ในช่วงนี้หุ้นขนาดใหญ่ใน SET50 อาจจะต้องเลี่ยงไปก่อนจนกระทั่งมีการตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ เพราะว่าต่างชาติยังขายต่อ และถ้าไปดูหุ้นใน SET50 เซ็กเตอร์พลังงาน เซ็กเตอร์โรงไฟฟ้า เซ็กเตอร์สื่อสาร พวกนี้ถูกกดดันจากนโยบายเรื่องของกฎระเบียบ (deregulation) หรือว่าลดการผูกขาด (Demonopolize) มีการปรับโครงสร้างพวกนี้จะมีผลกับพื้นฐานแน่นอน เพราะฉะนั้นในช่วงนี้อาจจะต้องหาหุ้นขนาดกลางขนาดเล็กที่มีสตอรี่ support, earning growth support หรือว่าเทิร์นอะราวนด์ อันนี้ผมว่าจะช่วยได้ และทำให้ performance ของพอร์ตไปได้ในปีนี้

แต่อย่างไรลึก ๆ ผมเชื่อว่าการตั้งรัฐบาลจะทำได้ จะลุล่วงได้ ผมเชื่อว่ารัฐบาลที่มารอบนี้เขารับฟังความเห็นจากหลาย ๆ ภาคส่วน และผมเชื่อว่านโยบายจะไม่ได้เอียงไปทางสังคมนิยมแบบสุดขั้วเหมือนที่ทุกคนกลัวกัน ผมยังเชื่อว่าทุกอย่างยังอยู่ในกรอบที่ไม่ควรเพนิก และสุดท้ายหุ้นที่ลงมา หลังเลือกตั้งลงมาประมาณ 3% และก็ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ลงมาประมาณ 8-9%

ซึ่งเราเป็นตลาดที่ underperform ที่สุดในภูมิภาค ผมเชื่อว่าเดี่ยวจะฟื้นตัวกลับไปได้ เพียงแต่ว่าต้องอาศัยความอดทนในการลงทุนนิดหนึ่ง ก็คือย่อลงมา ไม่ต้องไป break bottom ทยอยรับได้ และหาหุ้นที่ไม่ต้องกังวลกับนโยบายรัฐ คือไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบ แค่นี้น่าจะช่วยให้พอร์ตประคองตัวไปได้