แบงก์ชาติผ่อนเกณฑ์รายย่อยลงทุนต่างประเทศได้ 10 ล้านดอลลาร์ 

แบงก์ชาติผ่อนเกณฑ์รายย่อยลงทุนต่างประเทศได้ 10 ล้านดอลลาร์ 
นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดินหน้าโครงการ “FX Ecosystem” ลดความผันผวนค่าเงินบาท ซึ่งผันผวนมากเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาค รองจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เดินหน้าขยายวงเงินให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนต่างประเทศเพิ่มจาก 5 ล้านดอลลาร์เป็น 10 ล้านดอลลาร์ พร้อมสนับสนุนใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้า-ลงทุนเพิ่ม 

วันที่ 27 มิถุนายน 2566 นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทค่อนข้างผันผวน นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอ่อนค่าแล้ว 1.6% ซึ่งระหว่างทางมีทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า โดยในไตรมาสที่ 1/2566 อยู่ที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ และล่าสุดอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากดูดัชนีค่าความผันผวนอยู่ที่ 6.5% อันดับ 3 ของภูมิภาค แต่การเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับประเทศในภูมิภาค ซึ่งมีบางประเทศที่ค่าความผันผวนสูงกว่าไทย เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น 

ปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาทมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ปัจจัยภายนอกจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งที่ผ่านมาปรับอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างเร็วและรุนแรง ทำให้บาทอ่อนค่า 2.แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวกับภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนภายหลังการเลือกตั้ง และ 3.ปัจจัยเฉพาะของไทย เช่น พฤติกรรมการซื้อขายทองคำ และการลงทุนที่มีผลต่อค่าเงินบาท 

ดังนั้น เพื่อลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนและความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ธปท.จึงผ่อนคลายเกณฑ์ภายใต้แผนการสร้างระบบนิเวศอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) เพิ่มเติม ภายหลังจากผ่อนเกณฑ์ให้ทำธุรกรรมในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ได้เสรี หรือการโอนเงินออกนอกประเทศและทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวขึ้น รวมถึงการนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เสรีขึ้น โดยภายใน 2566 ธปท.จะเพิ่มเติมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 

1.ผู้ประกอบการไทย ขยายวงเงินให้เปล่าจาก 5 หมื่นดอลลาร์ เป็น 2 แสนดอลลาร์ หรืออนุญาตให้บริษัทลูกในไทยส่งเงินให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ เพื่อช่วยบริหารสภาพคล่อง นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ซึ่งดำเนินการแล้วใน 4 สกุล ได้แก่ หยวน-จีน ริงกิต-มาเลเซีย รูเปียห์-อินโดนีเซีย และเยน-ญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมาพบอุปสรรค 4 ด้านด้วยกัน คือ 1.ไม่มีสภาพคล่อง 2.หลักเกณฑ์ยังไม่เอื้ออำนวย 3.ต้นทุนแพง และ 4.ธุรกรรมรายย่อยยังไม่สะดวก ทั้งนี้ ธปท.จะผ่อนคลายเกณฑ์เพิ่มเติมร่วมกับธนาคารกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป 

“การหนุนใช้สกุลเงินท้องถิ่นเราทำมาสักพักแล้ว เพราะหากดูตัวเลขสัดส่วนการค้ากับจีนค่อนข้างสูง 20% สหรัฐฯ 10% และญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่จะเห็นว่าสกุลเงินที่ใช้ชำระหลัก ๆ ประมาณ 80% ยังเป็นสกุลดอลลาร์ หยวนเพียง 5-6% และใช้สกุลท้องถิ่นรวมกันแค่ 20% ซึ่งเวลาดอลลาร์มีความผันผวน ส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมาก และหากดูการเคลื่อนไหวของเงินบาทกับสกุลเงินในภูมิภาคไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสวนทางกับดอลลาร์ หากเรามาใช้สกุลเงินท้องถิ่นจะช่วยจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ระดับหนึ่ง”

Advertisment

2.นักลงทุนไทย จะขยายวงเงินลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศรายย่อย โดยไม่ผ่านตัวกลางจาก 5 ล้านดอลลาร์ เป็น 10 ล้านดอลลาร์ เนื่องจาก ธปท.เห็นสัญญาณนักลงทุนรายย่อยต้องการออกไปลงทุนในวงเงินมากขึ้น แต่ ธปท.ยังคงติดตามและเก็บข้อมูลอยู่  

3.บริษัทและนักลงทุนต่างประเทศ จะมีด้วยกัน 2 โครงการ คือ 1.การขยายขอบเขตโครงการให้นิติบุคคลต่างประเทศสามารถทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศ (NRQC) ซึ่งจะต้องเป็นนิติบุคคลที่มีการค้าและลงทุนในไทยทำธุรกรรมได้สะดวกขึ้น โดยที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการ 63 บริษัท ซึ่งมาจากยุโรป ญี่ปุ่น และเริ่มเห็นในกลุ่มอเมริกาเหนือ โดย ธปท.จะขยายไปในเซ็กเตอร์ Payment เพิ่มเติม และทำกระบวนการรับสมัครให้มีความกระชับมากขึ้น    

Advertisment

และ 2.โครงการการลงทะเบียนแสดงตัวตนของผู้ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทย (Bond Investor Registration : BIR) ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติมาลงทะเบียนแล้วกว่า 9,000 ราย โดยภายหลังจากธปท.เห็นหน้าตาผู้ลงทุนแล้ว ธปท.จะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติทำธุรกรรมโดยตรงกับสถาบันการเงินในไทยได้ เพื่อเป็นทางเลือก 

“แผนการที่จะดำเนินการในปีนี้ ถือว่าเป็นแผนระยะยาวในเรื่องของความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะเอื้อต่อการทำธุรกรรม รองรับกิจกรรมของนักลงทุนต่างชาติและผู้ประกอบการในไทย โดยเป้าหมายสุดท้ายคาดหวังว่า ผู้ประกอบการไทยจะมีความสามารถในการรองรับความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น เพราะเราไม่สามารถคาดเดาและควบคุมความเสี่ยงที่มาจากปัจจัยภายนอกได้ รวมถึงการขยายการลงทุน เพื่อให้คนไทยมีทางเลือกในการกระจายการลงทุนและออมเงินมากขึ้น” นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าว