
เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ จับตาเงินเฟ้อจีน สหรัฐ การเมืองไทย ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาเผยแบบจำลองคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 3 คาดขยายตัว 3.9%
วันที่ 7 สิงหาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/8) ที่ระดับ 34.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/8) ที่ระดับ 34.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังดัชนีดอลลาร์รัฐตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 102.06
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- วิกฤตหรือไม่วิกฤต คำตอบผู้ว่าการ ธปท.
โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (4/8) กระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.5% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6%
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือน ก.ค.เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.2% และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%
ทั้งนี้ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.6%
นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (4/8) แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3.9% ในไตรมาส 3/2566 หลังจากที่มีการขยายตัว 2.0% และ 2.4% ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ
โดยเฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งต่อไปในวันที่ 8 ส.ค. โดยนักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกน เซสได้ปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ภาะเศรษฐกิจสหรัฐ โดยไม่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ในขณะนี้ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ จำนวนมาก
เงินเฟ้อไทยไทยยังอยู่ในระดับต่ำ
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ในเดือน ก.ค. 66 เพิ่มขึ้น 0.38% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 0.64-0.66%
ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เนื่องจากการชะลอตัวของสินค้าในหมวดอาหาร เช่น เนื้อหมู และเครื่อประกอบอาหารที่มีราคาลดลง และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือน ก.ค.ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินฟ้อทั่วไป เฉลี่ 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 66) เพิ่มขึ้น 2.19%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ก.ค. 66 เพิ่มขึ้น 0.86% ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.73% กระทรวงพาณิชย์จับตาปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ทั้งนี้ ประเมินว่าในช่วง 4-5 เดือนที่เหลือของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่เกิน เดือนละ 1% นอกจากนี้ตลาดจับตาดูการแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลในเวลา 6.00 น. โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.65-34.87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
เงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/8) ที่ระดับ 1.1000/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/8) ที่ระดับ 1.0943/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวเหนือระดับ 1.1000 เทียบกับดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์ หลังตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐที่อ่อนแอได้ช่วยบดบังความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษบกิจยูโรโน ทั้งนี้ระห่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0969-1.1017 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0971/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/8) ที่ระดับ 141.86/90 เยน/ดอลลาร์ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/8) ที่ระดับ 142.72/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานสรุปความคิดเห็น (Summary of Opinions) ของกรรมการ BOJ ในวันนี้ (7/8) โดยระบุว่า ในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ก.ค.นั้น กรรมการได้หารือกันเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยสมาชิกรายหนึ่งของ BOJ กล่าวว่า ค่าจ้างและเงินเฟ้อที่เกิดจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ รายงานดังกล่าวบ่งชี้ว่า ในขณะที่สมาชิกของ BOJ เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษนั้น
แต่กรรมการก็มีความเชื่อมั่นว่าอัตราเงินเฟ้อขอญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ กำลังพิจารณาถึงการระงับการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 141.51-142.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 142.22/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดานี้ ดุลการค้าเดือน ก.ค.ประเทศจีน (8/8), ดุลการค้าเดือน มิ.ย.สหรัฐ (8/8), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ค.ประเทศจีน (9/8), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ค. ประเทศญี่ปุ่น (10/8), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (10/8), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สหรัฐเดือน ก.ค. (10/8), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สหรัฐเดือน ก.ค. (11/8) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ส.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (11/8)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.80/-10.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.00/-7.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ