กรุงศรีฯ คาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 34.30-35.00 บาท ลุ้นเงินเฟ้อสหรัฐ

เงินบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 34.30-35.00 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ลุ้นเงินเฟ้อเดือน ก.ค.ของสหรัฐ เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยเฟด

วันที่ 7 สิงหาคม 2566 นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.30-35.00 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.74 บาทต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.18-34.79 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์

ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 2.25% ตามคาด เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากข้อมูลจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐที่สดใสเกินคาด ขณะที่แบบจำลอง GDP Now ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาประเมินว่าจีดีพีสหรัฐอาจขยายตัว 3.9% ในไตรมาสนี้ แม้เฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 65

นอกจากนี้ ข่าวที่ว่าฟิทช์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ จาก AAA สู่ AA+ กดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก และหนุนดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวทั่วโลกกระชากขึ้นหลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ปรับมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนให้ยืดหยุ่นมากขึ้นในสัปดาห์ก่อนหน้า รวมถึงแผนกู้เงินที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลสหรัฐ

ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่จุดสูงสุดรอบ 15 ปี ที่ระดับ 5.25% พร้อมเตือนว่าดอกเบี้ยอาจจะอยู่ที่ระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 7,790 ล้านบาท และ 23,775 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ระบุว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลเงินเฟ้อเดือน ก.ค.ของสหรัฐ เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยเฟดต่อไปหลังตำแหน่งการจ้างงานนอกภาคเกษตรต่ำกว่าคาด แต่อัตราการเติบโตของค่าจ้างยังแข็งแกร่ง ทั้งนี้ กรุงศรีฯมองว่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง อาจจำกัดแรงขายดอลลาร์ในระยะนี้ แม้เรายืนยันมุมมองที่ว่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าบนสมมติฐานดอกเบี้ยเฟดสิ้นสุดทางขึ้นและเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ soft landing

ส่วนปัจจัยในประเทศ คาดว่า กนง.ขึ้นดอกเบี้ยด้วยมติเอกฉันท์ โดยเห็นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวสู่ศักยภาพ และ กนง.ต้องการรักษา policy space สำหรับอนาคต แต่การประเมินว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น และดอกเบี้ยนโยบายเข้าใกล้ระดับเป็นกลางมากขึ้น สนับสนุนมุมมองของเราที่ว่าความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยอีกมีน้อยลง นอกจากนี้ กรุงศรีฯมองว่าภาพทางการเมืองที่ขาดความชัดเจนอาจฉุดรั้งความต้องการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินบาทในช่วงนี้