แบงก์จ่อขยับดอกเบี้ย คาดเงินกู้ขึ้นยกแผง-มากสุด 0.25%

แบงก์จ่อขยับดอกเบี้ย

ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ เมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี เป็น 2.25% ต่อปี สูงสุดในรอบ 9 ปี ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 7 นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2565

“ปิติ ดิษยทัต” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการ กนง. ชี้ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวถือว่าเข้าใกล้จุด neutral rate หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในระยะยาวแล้ว โดยการประชุม กนง.ครั้งต่อไปจะขึ้นหรือคงดอกเบี้ยยังมีความเป็นไปได้ทั้งคู่ เพราะ กนง.ต้องดูข้อมูลที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจ ไม่มีการปักหมุดไว้ชัดเจน

“เราเข้าใกล้จุดถอนคันเร่งเกือบหมดมากขึ้น และมองไปข้างหน้าใกล้จุด neutral rate ซึ่งจะเป็นการฟื้นตัวเข้าใกล้ศักยภาพ ไม่ใช่เกินศักยภาพ ทั้งเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ โดยดอกเบี้ยที่แท้จริง (real interest rate) ใกล้เป็นบวกแล้ว แต่ก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เข้าใกล้ neutral rate

ซึ่งไม่ใช่แค่นี้ เรายังต้องดูข้อมูลเศรษฐกิจและต้องปรับอะไรเพิ่มเติม แต่ภาพรวมข้อมูลใหม่เศรษฐกิจระยะสั้นแผ่วลงบ้าง ส่วนเศรษฐกิจปี 2567 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก”

แบงก์รัฐยื้อขึ้นดอกกู้รอดูตลาด

ขณะที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เป็นแบงก์แรกที่ออกมาประกาศยื้อการปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม กนง.ให้นานที่สุด

โดย “นารถนารี รัฐปัตย์” กรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวว่า เนื่องจาก SME D Bank เป็นสถาบันการเงินของรัฐ มีภารกิจหลักในการช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย จึงพร้อมเคียงข้างดูแล ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยเดิมไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยลดผลกระทบ บรรเทาความเดือดร้อน

รวมถึงให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีเวลามากเพียงพอในการวางแผนบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างเหมาะสม ภายใต้แนวโน้มต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับ “ฉัตรชัย ศิริไล” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์รัฐ คงต้องรอดูทิศทางในตลาดก่อน

แบงก์พาณิชย์จ่อประกาศขึ้นดอกเบี้ย

ขณะที่ “ไพโรจน์ ชื่นครุฑ” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เร็ว ๆ นี้ธนาคารจะประชุมคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (ALCO) โดยคาดว่าจะประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงสัปดาห์ข้างหน้านี้ สอดคล้องกับธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งที่กำลังอยู่ระหว่างการประชุม

เพื่อดูความเหมาะสม เพื่อให้การปรับดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อลูกค้าน้อยที่สุด โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มเปราะบาง รวมถึงต้นทุนการเงินของธนาคารด้วย

“ทุกธนาคาร รวมถึงกรุงศรีฯ พยายามจะซัพพอร์ตลูกค้า และให้มีอิมแพ็กต์ต่อลูกค้าน้อยที่สุด”

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ธนาคารได้มีการประชุมใน ALCO เรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยของ กนง.เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะมีการประกาศภายในเร็ว ๆ นี้ เช่นเดียวกับธนาคารใหญ่แห่งอื่นน่าจะทยอยปรับขึ้นกัน

ตาราง แบงก์จ่อขยับดอกเบี้ย

คาดแบงก์ขึ้นดอกกู้ 0.20-0.25%

ขณะที่ “กาญจนา โชคไพศาลศิลป์” ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากการที่ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็น 2.25% ต่อปี ในการประชุมล่าสุด คาดว่าหลังจากนี้จะเห็นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขยับขึ้นตามทั้ง 2 ขาคือ ทั้งเงินฝากและเงินกู้

และจะเห็นการขยับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภท (M Rate) ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ชั้นดี (MLR) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยชั้นดี (MRR) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเกินบัญชีแบบมีระยะเวลา (MOR) ประมาณ 0.20-0.25% ต่อปี

“อาจจะเห็นการขยับดอกเบี้ย MRR ไม่ได้สูงสอดคล้องกับดอกเบี้ย กนง. ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยดูแลลูกค้ารายย่อย และกลุ่มที่ผูกกับอัตราดอกเบี้ย MRR ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR และ MOR ปรับขึ้นสอดคล้องกับ กนง.”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาดอกเบี้ยธนาคารปรับขึ้นมาแล้ว 6 รอบ โดย 5 รอบเป็นการปรับขึ้นตาม กนง. และอีก 1 รอบเป็นการปรับขึ้นหลังจากอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ขยับขึ้นมาอยู่ในอัตราเดิม เมื่อช่วงต้นปี 2566 ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ปรับขึ้นมาแล้ว 7 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ต่อปี

“รอบนี้ดอกเบี้ย M Rate ส่วนใหญ่น่าจะปรับขึ้นเฉลี่ยในกรอบ 0.20-0.25% ต่อปี ส่วนแคมเปญเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษยังเห็นอยู่ บางเดือนอาจจะเยอะหรือน้อยขึ้นอยู่กับธนาคารในการล็อกต้นทุนและบริหารสภาพคล่อง” ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าว

ประเมินดอกเบี้ย กนง.พีกสุด 2.5%

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือน ก.ย.นี้ สู่ระดับ terminal rate ที่ 2.5% และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับดังกล่าว

เช่นเดียวกับศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่า วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้จะแตะระดับ 2.5%

รวมถึงกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่าในวันที่ 27 ก.ย. 2566 กนง.น่าจะปรับเพิ่มดอกเบี้ยเป็นครั้งสุดท้ายในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้

นั่นแปลว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของบรรดาแบงก์ต่าง ๆ ก็คงขยับขึ้นอีกครั้งก่อนสิ้นปี 2566 นี้นั่นเอง