“ไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น” เดินหน้าเข้าตลาดหุ้น ชูธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศครบวงจร คาดรับค่าระวางเรือครึ่งปีหลังดีขึ้น โบรกฯประเมินราคาเหมาะสม 1.95-2.30 บาท/หุ้น พื้นฐานแกร่ง
วันที่ 27 สิงหาคม 2566 นายนันท์มนัส วิทยศักดิ์พันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไซโน โลจิสติกส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SINO เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำการให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรของประเทศไทย และขยายความครอบคลุมไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยใช้ความได้เปรียบเชิงการแข่งขันจากการเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศอย่างครบวงจรให้บริการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) ครอบคลุมทั้งทางทะเล ทางอากาศและทางบก รวมถึงการให้บริการให้เช่าคลังสินค้า การให้บริการด้านพิธีการศุลกากรและการให้บริการสนับสนุนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ตอบสนองความต้องการของตลาดในการให้บริการขนส่งสินค้าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางทั่วโลก (End-to-End Global Logistics) รองรับโอกาสของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในครึ่งปีหลังที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น
ขณะเดียวกันข้อมูลจากผู้ประกอบการสายเดินเรือและ Shanghai Containerized Freight Index ประเมินว่าราคาค่าระวางเรือมีแนวโน้มทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป
SINO ถือเป็นผู้นำในการให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลรายใหญ่ในเส้นทางไทย–สหรัฐอเมริกา ที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมายาวนานกว่า 10 ปี ด้วยความชำนาญการให้บริการบนเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลมากกว่า 100 ประเทศ
โดยมีตลาดหลักได้แก่ เส้นทางไทย–โซนอเมริกาเหนือ เส้นทางไทย–เอเชีย และเส้นทางไทย–ยุโรป ซึ่งถือเป็นเส้นทางหลักในการส่งออกและนำเข้าสินค้าหลักของการค้าโลก โดยมีเครือข่ายและพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นตัวแทนของบริษัท ในต่างประเทศมากกว่า 165 ประเทศทั่วโลกอครอบคลุมทั้งบริษัทเดินเรือบริษัทสายการบิน และตัวแทนการจัดการขนส่งในประเทศต่าง ๆ
รวมถึงมี OTI License (Ocean Transport Intermediary) จาก Federal Maritime Commission (FMC) และได้วางหลักประกัน FMC Bond จึงสามารถทำสัญญาการบริการกับสายเดินเรือในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศแถบโซนอเมริกาเหนือได้ด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งทำให้ SINO สามารถนำเสนอโซลูชั่นการให้บริการขนส่งสินค้าทั้งในรูปแบบการขนส่งแบบเต็มตู้ (Full Container Load : FCL) และแบบไม่เต็มตู้ (Less Than Container Load : LCL) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ตรงตามระยะเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ เพิ่มเติมในเส้นทางขนส่งไปทางทวีปต่าง ๆ เช่น ยุโรป ละตินอเมริกา ตะวันออกกลางและเอเชีย เป็นต้น พร้อมนำเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการตลอดห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เช่น ระบบ WMS เพื่อใช้บริหารจัดการคลังสินค้าการพัฒนางานขนส่ง ISO Tank ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุของเหลวเพื่อเพิ่มความหลากหลายการให้บริการตู้คอนเทนเนอร์ การนำระบบ GPS เพื่อใช้ติดตามตำแหน่งรถในขณะปฏิบัติงาน รวมถึงบันทึกและควบคุมความเร็วในการขับขี่ให้มีความเหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
“เรามุ่งเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศอย่างครบวงจร ภายใต้แนวคิด Sync The world โดยนำเสนอโซลูชั่นการให้บริการด้านโลจิสติกส์ครบวงจรอย่างมืออาชีพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุด ด้วยมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการที่มีประสิทธิภาพปลอดภัยและตรงต่อเวลา เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน” นายนันท์มนัสกล่าว
ทั้งนี้บรรดาโบรกเกอร์ อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรีพัฒนสิน จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ได้ประเมินราคาเหมาะสมของราคาหุ้น SINO อยู่ที่ 1.95-2.30 บาทต่อหุ้น
สะท้อนถึงพื้นฐานการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง ตลอดจนการดำเนินกลยุทธ์สร้างการเติบโตจากแผนขยายธุรกิจ Sea Freight ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับกิจกรรมการผลิตของฐานลูกค้าเดิม การขยายตู้บรรจุของเหลว ISO Tank และการขยายพื้นที่รับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ที่จะช่วยส่งเสริมการให้บริการขนส่งสินค้าแบบครบวงจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับ SINO จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 292 ล้านหุ้นประกอบด้วย (1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัท จำนวนไม่เกิน 240 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 23.08 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท และ (2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยนายเถิ่งฟ้ง เหยิ่ง จำนวนไม่เกิน 52,000,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้
ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งแบบไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ในครั้งนี้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง จากแผนการลงทุนขยายพื้นที่บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศในอาเซียน ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการของบริษัท