
ธุรกิจประกันภัย เสาหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “คลัง” หนุนออกแบบโปรดักต์เชิงสังคมลดความเหลื่อมล้ำ–เสริมสร้างพัฒนาทักษะทางการเงินประชาชน คาดเครื่องยนต์ “บริโภค–ลงทุน” ของรัฐและเอกชนกำลังจะติด เอื้อ GDP ให้ขยายตัวตามเป้า
วันที่ 8 กันยายน 2566 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานพิธีเปิดงาน Thailand InsurTech Fair 2023 และพิธีมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร ประจำปี 2566 ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ได้ผ่านความเปลี่ยนแปลงความท้าทาย ทั้งการฟื้นตัวหลังโควิด การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน อัตราเงินเฟ้อที่จะส่งผลต่ออุปสงค์และระดับการใช้จ่ายของประชาชน และภาวะหนี้ครัวเรือน รวมถึงความเปราะบางของสถานการณ์ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราภาษี (Tariff) ในด้านการค้าระหว่างประเทศ
แม้ว่าความท้าทายเหล่านี้ แต่วันนี้ประเทศไทยมีความโชคดี ที่มีเครื่องยนต์บางส่วนสามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเรื่องของการส่งออกภาคบริการ โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว ที่ได้รับอานิสงส์จากภายหลังจากที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง และการบริโภคของภาคเอกชนมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และเครื่องยนต์ที่กำลังจะติดก็คือ การบริโภคของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐ ที่จะมีความชัดเจนจากการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหวังว่าการลงทุนเหล่านี้จะเอื้อให้ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ในระบบจะขยายตัวได้ตามที่ประมาณการเอาไว้
สำหรับปัจจัยภายนอกด้านเศรษฐกิจและสังคม ถือว่าเป็นปัจจัยที่เร่งทำให้ความต้องการระบบการประกันภัยเพิ่มขึ้นและหลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของโรคอุบัติใหม่ ที่ทำให้ประชาชนตระหนัก และมีความต้องการประกันชีวิตและสุขภาพเพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ที่ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อบริหารจัดการการรองรับผู้สูงอายุในเรื่องของการเกษียณอายุและการบริหารจัดการด้านภาษี รวมถึงการพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลความเสี่ยงของแต่ละบุคคล และการประเมินความเสี่ยงที่มีความแม่นยำมากขึ้นจะทำให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยมีลักษณะเป็นเฉพาะบุคคลมากขึ้นเช่นกัน
ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นเด่นชัดจากเบี้ยประกันภัยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 โดยเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าทั้งธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย (ธุรกิจประกันภัยมีเบี้ยรับ 4.4 แสนล้านบาท มาจากเบี้ยประกันชีวิต 2.99 แสนล้านบาท และเบี้ยประกันวินาศภัย 1.40 แสนล้านบาท)
ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ผมได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานคณะกรรมการ คปภ. ทำให้ได้เห็นถึงการพัฒนาในด้านประกันภัยมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจประกันภัย การปรับปรุงและพัฒนากลไกการกำกับดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนกรอบการกำกับดูแล ให้อยู่บนหลักความสมเหตุสมผลกับระดับความเสี่ยง มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับกติกาสากลและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน
อีกทั้งการผลักดันร่างกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัย รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน
นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศผ่านการปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุน ประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันภัย โดยมีการออกประกาศ คปภ. เพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย การขยายบทบาทศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านประกันภัยในการให้คำแนะนำแก่บริษัทประกันภัย ตลอดจนการขยายผลโครงการทดสอบนวัตกรรมหรือ Sandbox ที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย และการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลด้านประกันภัย
ในฐานะที่งานวันนี้เป็นศูนย์รวมของบุคคลสำคัญในภาคประกันภัย ขอฝากให้ทุกท่านให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยต้องมีการขับเคลื่อนการบริหารงานในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมประกันภัยที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การนำเทคโนโลยีมาใช้การติดต่อสื่อสารรวมไปถึงการซื้อขายกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อลดการใช้กระดาษและลดพลังงาน
รวมทั้งการสนับสนุนการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการเสริมสร้างและพัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ
ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หน่วยงานด้านการศึกษา สถาบันการเงิน เฉพาะกิจของรัฐ ร่วมกันขับเคลื่อน
เพราะความรู้ความเข้าใจทางการเงิน จะนำมาซึ่งทัศนคติที่ดี และพฤติกรรมที่ถูกต้อง และจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวต่อไป
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ธุรกิจประกันภัยนับเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมนำเทคโนโลยีมาพัฒนาธุรกิจประกันภัย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบประกันภัย หลังจากเบี้ยประกันภัยรับรวมครึ่งปีแรก มีจำนวน 440,661 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยชีวิต จำนวน 299,860 ล้านบาท เบี้ยประกันวินาศภัย 140,700 ล้านบาท