จิตวิทยาการลงทุน 5 เรื่อง ที่ควรรู้ ก่อนลงสนามเทรดจริง

บทความโดย "จักรกฤษณ์ กิจการรัฐบุตร" 
นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

วันที่ 18 กันยายน 2566 ถ้าพูดถึงหลักการในการลงทุนเพื่อให้ประสบความสำเร็จ นอกจากเรื่องวิธีการคัดเลือกสินทรัพย์สำหรับการลงทุน วิธีวิเคราะห์งบการเงิน รวมถึงวิธีการใช้ การวิเคราะห์ทางเทคนิค เช่น กราฟ และ Indicators ต่าง ๆ

นักลงทุนเองก็ยังจำเป็นต้องศึกษาเรื่องของการจัดการเงินทุน หรือ “Money Management” ด้วยเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับพอร์ตลงทุน โดยหลักการก็คือการกำหนดระดับความเสี่ยง ที่เราสามารถรับได้และกำหนดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสม

อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมาก แต่กลับถูกมองข้ามมากที่สุด ก็คือเรื่องของ “จิตวิทยาการลงทุน” ซึ่งนักลงทุนที่ขาดทุนต่อเนื่อง หรือไม่สามารถเอาชนะตลาดได้หลาย ๆ ครั้ง พบว่าเกิดจากการมองข้ามเรื่อง “จิตวิทยาการลงทุน” ไปนั่นเอง

“จิตวิทยาการลงทุน” คืออะไร ?

จิตวิทยาการลงทุน คือสภาพจิตใจและสภาวะอารมณ์ในการลงทุนของเรา ซึ่งจิตวิทยาการลงทุนถือว่ามีความสำคัญมากในการลงทุน แต่เป็นเรื่องที่จับต้องได้ยาก ไม่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ทำให้หลาย  ๆ คนมองข้ามเรื่องนี้ไป เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นเรามาดูกันว่า “จิตวิทยาการลงทุน” ที่เราจะพบเจอได้บ่อย ๆ ในการลงทุนคืออะไร

1.เพราะราคาสูงเลยไม่ลงทุน

ความผิดพลาดข้อนี้ถือเป็นข้อที่เกิดบ่อยและนักลงทุนเป็นกันเยอะมากที่สุดข้อนึงเลยก็ว่าได้ ความหมายของคำว่า “เพราะราคาสูงเลยไม่ลงทุน” ก็คือเวลาที่เราดูกราฟหุ้นตัวนึง แล้วเห็นว่า หุ้นตัวนี้กราฟสวยมากเป้าหมายนี่ต้องมีเห็น 15 บาทแน่ ๆ แถมตอนนี้ราคาหุ้นก็ยังอยู่แค่ 5 บาทอยู่ เราก็เลยเพิ่มหุ้นตัวนี้ไว้ในลิสต์ แต่พอตอนเราจะซื้อ ราคาหุ้นมันกลับดีดขึ้นมาอยู่ที่ 9 บาทแล้ว และราคานี้ก็เป็นแนวต้านเก่าพอดี

ถ้าในความรู้สึกของบางคนก็จะรู้ว่าราคาหุ้นมันขึ้นมาสูงมากแล้ว เลยไม่กล้าที่จะเข้าไปลงทุน ทั้ง ๆ ที่ตอนดูกราฟเรายังมั่นใจอยู่เลยว่ามันต้องไป 15 บาทแน่ ๆ แบบนี้ก็จะทำให้เราเสียโอกาสในการลงทุนไป

ADVERTISMENT

วิธีแก้ข้อนี้ก็คือเราอย่าไปดูที่ราคาหุ้น ให้โฟกัสที่จุดที่มันจะไปหรือเป้าหมายของราคาตามแผนการลงทุน เพราะถ้ามันยังมี GAP หรือส่วนต่างให้เราทำกำไรอยู่ก็ยังถือว่าเรายังมีโอกาสทำกำไรได้อยู่ และต้องไม่ลืมว่าหุ้นเคลื่อนไหวเป็นแนวโน้ม ถ้าแนวโน้มยังไม่จบ หุ้นก็ยังไปต่อได้เรื่อย ๆ เสมอ

2.ไม่ทำตามแผนที่วางไว้

บางครั้งปัญหาในการลงทุนอาจจะไม่ใช่การขาดความรู้ในการลงทุนก็เป็นไปได้ แต่ปัญหาอาจเป็นเพราะความมั่นคงทางจิตใจของเรา สาเหตุที่ทำให้ความมั่นคงทางจิตใจเปลี่ยนไปมี 2 สาเหตุด้วยกัน

ADVERTISMENT

สาเหตุแรกก็คือ “ความกลัว” เช่น กลัวขาดทุน กลัวราคาจะลงไปมากกว่านี้ ตัวอย่างเช่น เราวางแผนไว้ว่าถ้าราคาหุ้น A ลงมาที่ “แนวรับ” ที่เราวางแผนไว้ว่าจะซื้อ แต่พอหุ้น A ลงมาที่แนวรับนั้นจริง ๆ เรากลับไม่กล้าซื้อ เพราะกลัวว่าราคาจะลงต่อ และกลัวว่าซื้อไปแล้วหุ้นจะไม่ขึ้น ก็เลยไม่ได้ซื้อหุ้น หลังจากนั้นพอวันต่อมาเรากลับมาดูหุ้นตัวนี้อีกทีราคามันก็ขึ้นไปไกลแล้ว แบบนี้มันทั้งน่าเสียดายและน่าเจ็บใจเลยจริง ๆ

และสาเหตุที่สองก็คือ “ความโลภ” ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเรามีหุ้น B อยู่ในพอร์ต โดยมีทุนอยู่ที่ราคา 5 บาท และเราวางแผนว่าจะไปขายที่แนวต้านที่ราคา 7 บาท แต่พอราคาหุ้นขึ้นมาที่ 7 บาทแล้วเรากลับไม่ขาย เพราะเรากลัวว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปอีก แบบนี้ถ้าราคาหุ้นไม่ขึ้นต่อ แถมยังปรับตัวลงมาด้วย เรานั่นแหละที่จะเสียดาย

วิธีแก้ปัญหานี้แนะนำให้เราเขียนแผนการลงทุนที่ชัดเจนเอาไว้เลย แล้วทำตามแผนที่เราเขียนไว้ทุกขั้นตอน เชื่อว่าถ้าเราทำแบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาข้อนี้ได้ดีขึ้นแน่นอน

3.เชื่อคนอื่นมากเกินไป

เชื่อว่าส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนหลาย ๆ คนที่อยู่ในตลาดหุ้นจะไม่ได้เข้ามาลงทุนคนเดียว แต่จะมีกลุ่มเพื่อน นักวิเคราะห์หรืออินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เราสนุกกับการลงทุนมากขึ้น มีคนให้เราปรึกษา และทำให้เรามีความรู้เพิ่มขึ้นจากการแลกเปลี่ยนความรู้กันในกลุ่มอีกด้วย

แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องระวังในการลงทุนกับเพื่อน คืออย่าเชื่อคนอื่นมากเกินไป ตรงนี้หมายความว่าเวลาที่เราปรึกษากับเพื่อนในกลุ่มมันก็จะมีการแนะนำหุ้นกันมา ซึ่งไม่แนะนำให้เราเชื่อและลงทุนในหุ้นที่ได้มาจากคนอื่นทั้งหมด นั่นไม่ได้แปลว่าพวกเค้าไม่เก่ง แต่เป็นเพราะว่าการเชื่อหุ้นคนอื่นจะทำให้เราไม่ได้พัฒนาตัวเอง และหลาย ๆ ครั้งเค้าไม่ได้บอกเราทุกอย่าง

ข้อนี้หมายความว่าบางทีเค้าบอกให้เราซื้อหุ้น A แถมบอกราคาซื้อด้วย แต่ประเด็นคือเค้าไม่ได้บอกเราว่าเค้าจะขายเมื่อไหร่ ซึ่งบางทีเค้าขายทำกำไรไปนานแล้ว แต่เรายังถือหุ้นตัวนั้นอยู่เลยก็มี

อีกหนึ่งตัวอย่างที่เป็นผลเสียจากการเชื่อคำพูดคนอื่นมากเกินไป ก็คือบางทีเราทำการบ้านหุ้นตัวนี้มาอย่างดีทั้งดูกราฟและอ่านงบการเงิน แต่ตอนที่เรากำลังจะซื้อดันมีเพื่อนมาบอกว่า “อย่าซื้อหุ้นตัวนี้เลย มันไม่ดีหรอก เราว่าหุ้นตัวนี้ลงแน่ ๆ” ซึ่งถ้าจิตใจเราไม่มั่นคงพอ เราก็อาจจะพลาดโอกาสในการลงทุนในหุ้นและทำกำไรจากหุ้นตัวนี้ไปเลย

วิธีแก้ไขข้อนี้ คือพอเราได้ยินหุ้นจากคนอื่นมาให้เราเอามาทำการบ้านเองก่อน เช่น เอามาดูกราฟเอง หรือดูปัจจัยพื้นฐานเอง แล้วตัดสินใจด้วยตัวเราเองแบบนี้มันจะทำให้เราได้พัฒนาและไม่ต้องฝากพอร์ตเราไว้กับคำพูดของใครด้วย

4.ฝังใจกับหุ้นตัวเดิม ๆ

เชื่อว่านักลงทุนแต่ละคนย่อมที่จะมีหุ้นที่ตัวเองไม่ถูกชะตา หรือเคยเจ็บกับมันมาก่อน จุดนี้เองมันเลยทำให้เราฝังใจ แล้วไม่กลับไปมองหุ้นตัวนี้อีกเลย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่อยากให้ทุกคนลองค่อย ๆ ปรับดู อาจจะค่อย ๆ เฝ้าดูหุ้นตัวนั้น แล้วถ้ามีจังหวะดีเมื่อไหร่ก็ลองพยายามกลับไปลงทุนในหุ้นตัวนั้นด้วยเงินน้อย ๆ ก่อนก็ได้

ซึ่งถ้าเรากำไรสักครั้งนึง เชื่อว่ามันจะทำให้เราลบฝันร้ายนั้นไปได้ และเหตุผลที่ให้ทุกคนทำแบบนี้ก็เพราะว่าไม่อยากให้มีอคติกับหุ้นตัวไหนหรือสินทรัพย์ตัวไหนเป็นพิเศษ เพราะจะทำให้เราพลาดโอกาสการลงทุน

5.Overtrade

Overtrade หรือการซื้อขายมากเกินไป เกิดขึ้นจากความที่เรามั่นใจตัวเองมากเกินไป เช่น ในช่วงนั้นเราอาจจะลงทุนเข้าเป้าทุกตัว เข้าตัวไหนก็กำไรไปหมด ความมั่นใจนี้เองมันเลยทำให้เราไม่ยอมหยุดลงทุน แล้วทำให้เรายิ่งเข้าลงทุนไม้ใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ เกินความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ แล้วเมื่อผิดทางขึ้นมาทำให้เกิดความเสียหายกับพอร์ตอย่างมหาศาล ซึ่งอาจจะทำให้พอร์ตเราไม่โตและอาจจะไปถึงขั้นขาดทุนถึงเงินทุนเลยก็เป็นไปได้เช่นกัน

วิธีแก้ข้อเสียข้อนี้ให้ดีขึ้น ก็คือให้เรากำหนดแผนการลงทุนอย่างชัดเจนก่อนการลงทุนทุกครั้ง โดยหลักการทั่วไปเรากำหนดจำนวนเงินลงทุนที่สามารถเสียได้ในแต่ละครั้งไว้เสมอ เช่น เรากำหนดไว้ว่าเรารับความเสี่ยงหรือผลขาดทุนได้ 2% ต่อการลงทุนหนึ่งครั้ง แล้วเราประเมินแล้วว่าการลงทุนในหุ้นครั้งนี้โอกาสที่เราจะยอมแพ้หรือ Cut Loss ออกไปคือเมื่อหุ้นปรับตัวลง 10%

แปลว่าถ้าหากพอร์ตเรามีมูลค่า 100,000 บาท เรารับผลขาดทุนได้เพียง 2,000 บาท ดังนั้นการเข้าลงทุนหุ้นในครั้งนี้เราจะซื้อได้เพียง 2,000/10% หรือ 20,000 บาทเท่านั้น เพื่อให้ในจุดที่ Cut Loss เกิดผลขาดทุนกลับมาที่พอร์ตเพียง 2% หรือ 2,000 บาทตามแผนการลงทุนที่ตั้งใจไว้

“จิตยาการลงทุน” เป็นอีกทีปัจจัยสำคัญที่มีส่วนการประสำเร็จหรือล้มเหลวด้านการลงทุน การเร่งศึกษาหาความรู้ พร้อมนำไปปฏิบัติให้เกิดทักษะ พร้อมกับการลงทุนอย่างมีวินัย มีแผนการลงทุนจะเสมอจะช่วยทำให้เราสามารถเอาตัวรอดจากตลาดการลงทุนได้มากขึ้น