
ดอลลาร์แข็งค่า หลังดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลชะลอตัว แต่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐ ย่อตัวลงในช่วงแรกก่อนจะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าเงินเฟ้อเป้าหมายของทางเฟด
วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาครกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะเคลื่อนไหวปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิตลาดเช้าวันนี้ (2/10) ที่ระดับ 36.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/9) ที่ระดับ 36.43/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
- เช็กเงื่อนไขกู้ “ออมสิน” ปลดหนี้นอกระบบ คุณสมบัติผู้กู้ต้องมีอะไรบ้าง ?
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- วิธีเช็กเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท chongkho.inbaac.com
โดยหลังการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.5% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ เพิ่มขึ้นจากระดับ 3.4% ในเดือนกรกฎาคม
และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนสิงหาคม ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.5% จากระดับ 0.2% ในเดือนกรกฎาคม
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 3.9% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี ลดลงจากระดับ 4.3% ในเดือนกรกฎาคม
และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะชะลอตัวลง ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐ ย่อตัวลงในช่วงแรกก่อนจะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าเงินเฟ้อเป้าหมายของทางเฟด
นอกจากนี้ทางด้านมหาวิทยาลัยมิชิแกนเผยผลสำรวจของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 68.1 ในเดือนกันยายน แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 67.7 จากระดับ 69.5 ในเดือนสิงหาคม โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการผละงานประท้วงในอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐ
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อเพิ่ม 3.2% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า จากระดับ 3.5% ในการสำรวจเดือนที่แล้ว ขณะที่ทางด้านนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐได้มีการลงนามในกฎหมายงบประมาณชั่วคราวระยะวลา 45 วัน ก่อนที่หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ จะถูกปิดการดำเนินงาน หรือชัตดาวน์ หลังวุฒิสภาสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 88 ต่อ 9 เสียง ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว ในวันเสาร์ที่ผ่านมา (30/9)
โดยการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวดังกล่าวจะช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐมีงบประมาณใช้จ่ายไปจนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน โดยร่างงบประมาณฉบับนี้ครอบคลุมถึงการจัดสรรงบประมาณสำหรับภารกิจการบรรเทาภัยพิบัติวงเงิน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่รวมงบประมาณที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครน
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวในระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาการมอบนโยบาย และแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยระบุว่า รัฐบาลเตรียมจะออก Sustainability Bond วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 เพื่อทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินนโยบายสร้างความยั่งยืน
และยังมีการกล่าวว่าในระยะสั้น รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูรายได้ ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2567 อัดฉีดเม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท เข้าไปในระบบ กระตุ้นทั้งอุปสงค์-อุปทาน ด้วยการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ในระยะเวลา 6 เดือนทำให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจ ซึ่งทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ดิจิทัล วอลเว็ตขึ้นมาเพื่อมาดูแลทั้งการพัฒนาแอปพลิเคชั่น การหาแหล่งเงิน และการกำหนดกฎระเบียบ โดยคาดว่าจะสามารถใช้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ระหวางวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.70-36.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.90/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/10) ที่ระดับ 1.565/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/9) ที่ระดับ 1.0610/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเป็นผลมาจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ
ประกอบกับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ของยูโรโซนซึ่งถูกเปิดเผยโดยสำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) อยู่ที่ระดับ 4.3% ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 และลดลงจากระดับ 5.2% ในเดือนสิงหาคม โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0551-1.0591 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0557/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/10) ที่ระดับ 149.67/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าต่อเนื่องจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/9) ที่ระดับ 149.06/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ
และทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีการเปิดเผยรายงานสรุปความคิดเห็น (Summary of Opinions) ของกรรมการ BOJ ในวันนี้ (2/10) โดยระบุว่า ในการประชุมนโยบายการเงินเดือนกันยายนนั้น กรรมการ BOJ มีการหารือกันในหลากหลายปัจจัยเพื่อใช้ในการตัดสินใจว่าควรจะยุตินโยบายผ่อนคลายเป็นเงินแบบพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) หรือไม่ โดยนักวิเคราะห์จำนวนมากคาดว่า BOJ จะยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษในช่วงครึ่งแรกของปี 2567
ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.44-149.82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.66/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายดือนกันยายนจากเอสแอนด์พี โกลบอล (2/10), ดัชนีภาคการผลิตเดือนกันยายนจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (2/10), ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนสิงหาคม (3/10), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนกันยายน จาก ADP (4/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนกันยายนจากเอสแอนด์พี โกลบอล (4/10), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนสิงหาคม (5/10) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกันยายน (6/10)
อัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.5/-10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.3/-7.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ