ดอลลาร์แข็งค่า นักลงทุนคาดเฟดคงดอกเบี้ยระดับสูงนานกว่าที่คาด

ดอลลาร์แข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์แข็งค่า หลังนักลงทุนคาดเฟดคงดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่คาด เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2 % และเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงมากกว่านโยบายคุมเข้มด้านการเงินของเฟด

วันที่ 26 กันยายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 26 กันยายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/9) ที่ระดับ 36.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (25/9) ที่ระดับ 36.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังนายออสเตน กูลสบี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโกกล่าวว่า เงินเฟ้อที่เคลื่อนไหวสูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ยังคงเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงมากกว่านโยบายคุมเข้มด้านการเงินของเฟด

โดยแม้ว่านโยบายของเฟดจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงสู่ระดับที่สามารถควบคุมได้ “ความเสี่ยงของเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของเฟดนั้นถือเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงกว่า ด้วยเหตุนี้ เฟดจึงจำเป็นต้องฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมาย และเรามุ่งมั่นที่จะทำอย่างนั้น 100%”

นายกูลสบีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีในวันจันทร์ (25 ก.ย.) นายกูลสบีกล่าวว่า เฟดไม่มีแผนตายตัวว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกหรือไม่ แต่ในการอภิปรายเกี่ยวกับนโยบายเฟดในปัจจุบันบ่งชี้ว่า เฟดจะยุติการกำหนดว่าควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเท่าใด แต่จะระบุถึงความจำเป็นที่ว่าเฟดควรจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเท่าใด

ในการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% แต่ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (dot plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปี 2567 จากเดิมที่เฟดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้งในปีหน้า

Advertisment

นักลงทุนในตลาดการเงินต่างจับตาการแสดงความเห็นของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ครม.อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบฯ 67

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2567 เฉพาะในส่วนที่ ครม.ได้มีมติอนุมัติแล้ว การบริหารหนี้ที่ครบกำหนด และการชำระหนี้ ประกอบด้วย

1. แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 194,434.53 ล้านบาท

2. แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,621,135.22 ล้านบาท

Advertisment

3. แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 390,538.63 ล้านบาท

โดยการดำเนินงานตามแผนฯ หน่วยงานภายใต้แผนฯ จะต้องดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.20-36.41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.35/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/9) ที่ระดับ 1.0582/84 ดอลลารสหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (25/0) ที่ระดับ 1.0631/33 ดอลลารสหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนีเปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ (26 ก.ย.) ว่าความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้ส่งออกของเยอรมนีย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัดในเดือน ก.ย. เนื่องจากการส่งออกไปยังภูมิภาคหลัก ๆ ทั้งหมดลดลง ดัชนีคาดการณ์ส่งออกปรับตัวลงสู่ระดับ -11.3 จุดในเดือน ก.ย. จากระดับ -6.5 จุดในเดือน ส.ค. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0571-1.0602 ดอลลารสหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0600/01 ดอลลารสหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/9) ที่ระดับ 148.81/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าต่อเนื่องจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (25/9) ที่ระดับ 148.59/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.75-149.18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานยอดขายบ้านใหม่สหรัฐเดือน ส.ค. (26/9), สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ (27/9), รายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐ เดือน ส.ค. (27/9), GDP ไตรมาส 2 สหรัฐฯ (28/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (28/9), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยูโรโซน (29/9) และรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (29/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.75/-9.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.15/-9.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ