“สรรพากร” ถก “ก.ล.ต.-ธปท.-ตลท.” รวมถึงสมาคม “แบงก์-บลจ.-โบรกเกอร์” เคลียร์ปมเก็บภาษีผู้มีรายได้จากต่างประเทศนำเข้ามาในประเทศไทย ยันบังคับใช้ต้นปีหน้า เตรียมออกประกาศให้ “เครดิตภาษี” คืนได้เผยตลาดทุนขอให้เริ่มคิดเงินได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 1 ม.ค.67 เป็นต้นไป-ไม่ย้อนหลัง หวั่นยุ่งยากตามหาเอกสารรับรอง
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้มีการเชิญหลายหน่วยงานในภาคตลาดเงินตลาดทุนเข้าหารือ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค จากกรณีที่มีการออกคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566 เรื่องการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไปในปีภาษีนั้น ๆ หากมีเงินได้จากต่างประเทศ
หากมีการนำเงินได้ที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปีที่ได้นำเงินได้ดังกล่าวเข้ามา
โดยหน่วยงานที่เชิญมา มีทั้งหน่วยงานกำกับดูแล ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมถึงองค์กรภาคเอกชนที่อยู่ในรูปสมาคมต่าง ๆ ทั้งสมาคมธนาคารไทย สมาคมจัดการลงทุน และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย
“คาดว่าสิ้นเดือน ต.ค.นี้ น่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนทั้งหมด ทั้งเรื่องการออกประกาศให้เครดิตภาษีได้ รวมถึงเรื่องที่ว่าจะเริ่มคิดเงินได้ที่เกิดขึ้นเมื่อใด จะให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ไปข้างหน้า หรือนับที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีต ซึ่งตอนนี้หลายคนก็กังวลกันว่า เงินได้เก่า ๆ จะลำบากในการหาเอกสารหนังสือรับรองมายืนยัน ดังนั้น ตรงนี้ต้องให้ระดับนโยบายตัดสินใจ”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศแล้วส่งเงินกลับมา หากไม่ได้อยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป เงินได้ที่ส่งกลับมาก็ไม่ต้องถูกนำมาคำนวณภาษี ซึ่งเป็นไปตามหลักประมวลรัษฎากรอยู่แล้ว
ส่วนเงินที่นำไปซื้อหุ้นกู้ในต่างประเทศและได้รับดอกเบี้ยจากการถือครองหุ้นกู้ดังกล่าว ต่อมานำเงินต้นและดอกเบี้ยกลับเข้ามาในประเทศไทย ตรงนี้จะเสียภาษีเฉพาะส่วนของดอกเบี้ยที่นำกลับเข้ามาเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นดอกเบี้ยที่ได้รับในช่วงปีภาษีที่บุคคลนั้น ๆ อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป
ส่วนกรณีบุคคลที่ไปอาศัยอยู่และทำงาน หรือประกอบกิจการอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลานาน ต่อมาต้องการกลับมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงนำเงินสะสมจากการทำงานหรือประกอบกิจการในต่างประเทศมาด้วย กรณีเช่นนี้ไม่ต้องเสียภาษี เพราะเงินดังกล่าวเกิดขึ้นในปีภาษีที่บุคคลนั้นอยู่ในไทยไม่ถึง 180 วัน
“ที่ผ่านมา มีการตีความว่า ถ้าไม่ได้นำเข้าไปปีภาษีเดียวกันก็ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งสมัยก่อนข้อมูลภาษีในต่างประเทศตรวจสอบยาก แต่ปัจจุบันมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างสรรพากร จึงต้องปรับ เพื่อให้เป็นธรรม กับผู้เสียภาษีที่มีเงินได้ในประเทศ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมามีการแสดงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ที่มองว่าอาจจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยในระยาว ภาษีที่เก็บได้จะไม่คุ้มเสีย ขณะที่ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กูรูนักลงทุนเน้นคุณค่า (VI) มองว่า ยุคทองของการลงทุนแบบ VI คงจะจบลงแล้ว รวมถึง บลจ.จิตตะเวลธ์ ที่ขอให้กรมสรรพากรทบทวน เพราะจะกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่มีการลงทุนต่างประเทศอยู่ในปัจจุบัน