
ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่า รอติดตามตัวเลขค้าปลีกสหรัฐเดือนกันยายน รวมทั้งจับตาดูความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาน้ำมัน
วันที่ 17 ตุลาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 17 ตุลาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/10) ที่ระดับ 36.33/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (16/10) ที่ระดับ 36.26/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- ราคาน้ำมันพรุ่งนี้ (9 ธ.ค.) เบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ลด 40 สต. มีผลตี 5
โดยดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ -4.6 ในเดือนตุลาคม จากระดับ 1.9 ในเดือนกันยายน แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -7.0
ล่าสุดตัว FedWatch Tool โดย CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนพฤศจิกายนว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.50-5.75% ที่ร้อยละ 9.9 ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ที่ร้อยละ 90.1
ทั้งนี้นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐเดือนกันยายนในวันนี้ (17/10) นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาดูความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาน้ำมัน
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาส 4/66 โดยคาดว่า การส่งออกของไทยในไตรมาส 4 ปีในปีนี้ จะสามารถกลับมาเป็นบวกได้ที่ 6.8% คิดเป็นมูลค่าราว 70,500 ล้านดอลลาร์ จากไตรมาส 3/66 ที่คาดว่าจะหดตัว 3.2% ขณะที่การส่งออกไทยทั้งปี 2566 คาดว่าจะยังหดตัว 2% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 281,500 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ได้ประเมินแนวโน้มการส่งออกไทยปี 2567 โดยคาดว่ามีโอกาสกลับมาขยายตัวได้ 3.6% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีมากขึ้น
นอกจากนี้นโยบายผลักดันการส่งออกสินค้าจากหน่วยงานภาครัฐของไทย จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการส่งออกในตลาดต่าง ๆ มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกไทยในปี 2567 ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนสูงของเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ระบุถึงค่าเงินบาทว่ามีความไม่แน่นอนสูงและเป็นตัวแปรสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จับตาดูอย่างใกล้ชิด โดยเห็นว่ามีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อในบางไตรมาสของปี 2567 จะสูงกว่า 3% ทั้งนี้ ธปท.เน้นย้ำว่าดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 2.5% ถือเป็นระดับที่สมดุล ซึ่งไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและเป็นระดับที่เหมาะสมในการรองรับทั้งปัจจัยบวกและลบในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.30-36.48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/10) ที่ระดับ 1.0552/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (16/10) ที่ระดับ 1.0529/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทั้งนี้สถาบัน ZEW เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซน ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 2.3 ในเดือนตุลาคมสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ -8.0
และรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ -1.1 ในเดือนตุลาคม สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ -9.3 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0535-1.0560 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0549/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/10) ที่ระดับ 149.53/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (16/10) ที่ระดับ 149.52/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ตลาดจับตามองการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อเดือนกันยายนในวันศุกร์นี้ (20/10) ซึ่งจะมีขึ้นก่อนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 30-31 ตุลาคม ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.50-149.72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.68/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนไตรมาส 3/2566 (18/10), ตัวเลขยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าของญี่ปุ่นเดือนกันยายน (19/10), ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านของสหรัฐเดือนกันยายน (19/10), ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐ (19/10), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (1+/10), ดัชนีการผลิตเดือนตุลาคมจากเฟดฟิลาเดลเฟีย (19/10), ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐเดือนกันยายน (19/10)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.6/-9.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.2/-1.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ