ดอลลาร์สหรัฐผันผวน จับตาราคาน้ำมัน ทองคำ และถ้อยแถลงพาวเวลล์

หุ้น น้ำมัน ทองคำ

ดอลลาร์สหรัฐผันผวนในกรอบ จับตาราคาน้ำมัน ทองคำ และถ้อยแถลง เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด ขณะที่เงินบาทแข็งค่า ขานรับเศรษฐกิจจีนฟื้นตัว

วันที่ 18 ตุลาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/10) ที่ระดับ 36.40/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (17/10) ที่ระดับ 36.35/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังดัชนีดอลลาร์ปรับตัวแคบ ๆ ที่ระดับ 106.2 (กรอบ 106-106.6 จุด)

โดยดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากการที่สหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกสูงกว่าคาดในเดือน ก.ย. ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น ท่ามกลางการจับตาถ้อยแถลงของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่สมาคมเศรษฐกิจแห่งนิวยอร์ก (Economic Club of New York) ในวันพฤหัสบดีนี้ (19/10) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด

               

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือน ก.ย. สูงกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายรถยนต์ และยอดขายของสถานีบริการน้ำมัน และหากไม่รวมยอดขายรถยนต์และน้ำมัน ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือน ก.ย. สูงกว่าที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.1%

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือน ก.ย. หลังจากทรงตัวในเดือน ส.ค. ทั้งนี้ ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค ส่วนการผลิตของภาคโรงงานและภาคเหมืองแร่เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ก.ย. ขณะที่ภาคสาธารณูปโภคลดลง 0.3%

ทั้งนี้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้บอนด์ยีลต์ 10 ปีสหรัฐ สามารถทยอยปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4.84%

ส่วนค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่า หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน รายงานว่าเศรษฐกิจจีนมีการเติบโต 4.9% ในไตรมาส 3 หรือระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนจากปีก่อนหน้า ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ สำหรับ GDP ไตรมาส 3 ที่ 4.9% ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียเพิ่มเติม

นอกจากนี้สถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ยังคงหนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.27-36.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/10) ที่ระดับ 1.0562/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (17/10) ที่ระดับ 1.0553/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยศูนย์วจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -1.1 ในเดือน ต.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ -9.3 จากระดับ -11.4 ในเดือน ก.ย. โดยได้รับแรงหนุนจากการคลายความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ

ส่วนดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจดีดตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ตัวเลขเงินเฟ้อยูโรโซน (Final Core CPI y/y) เดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 4.5% เท่ากับที่คาดการณ์ที่ระดับ 4.5% และตัวเลขเงินเฟ้อยูโรโซน (Final CPI y/y) เดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 4.3% เท่ากับที่คาดการณ์ที่ระดับ 4.3%

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0559-1.0594 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0582/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/10) ที่ระดับ 149.78/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (17/10) ที่ 149.67/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยในระหว่างวันค่าเงินเยน/ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในตลาดโตเกียว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อของญี่ปุ่นขึ้นสู่ระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2% ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ในการประชุมนโยบายการเงินซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งจะทำให้ความพยายามในการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) ของ BOJ เป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น

อย่างไรก็ตามตลาดยังจับตามองการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อเดือนกันยายนในวันศุกร์นี้ (20/10) ซึ่งจะมีขึ้นก่อนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 30-31 ตุลาคม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.47-149.83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.74/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจหรือ Beige Book จากธนาครกลางสหรัฐ (เฟด) (18/10), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน ก.ย.ของญี่ปุ่น (19/10), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (19/10), ดัชนีการผลิตเดือน ต.ค. จากเฟดฟิลาเดลเฟียของสหรัฐ (19/10), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ก.ย.จาก Conference Board (19/10), อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย.ของญี่ปุ่น (20/10) และธนาคารกลางจีนประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) (20/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.40/9.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 7.80/6.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ