
สินทรัพย์ปลอดภัยพุ่งจากภาวะสงคราม จับตาราคาน้ำมันดิบ ทองคำ หลังมีความเสี่ยงจากสงครามล่าสุด อาจหนุนให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้น และจะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทอ่อนค่า
วันที่ 9 ตุลาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/10) ที่ระดับ 36.93/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/10) ที่ระดับ 36.97/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
- วิกฤตหรือไม่วิกฤต คำตอบผู้ว่าการ ธปท.
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- พระราชินี ทรงนำทีมแข่งขันเรือใบนานาชาติ เข้าเส้นชัยอันดับ 1
โดยในช่วงแรกของคืนวันศุกร์ (6/10) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวขึ้นขานรับการขยายตัวของการจ้างงานในเดือน ก.ย. เป็นเดือนที่ 33 ติดต่อกัน โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 336,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ย. สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 170,000 ตำแหน่ง ก่อนที่จะปรับตัวอ่อนค่า หลังตัวเลขการขยายตัวของค่าจ้างสหรัฐ ชะลอลงและอัตราว่างงานที่สูงกว่าคาด
โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับ 3.8% สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 3.7% ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยนักลงทุนมองว่า ตัวเลขการจ้างงานที่ร้อนแรงเกินคาดไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของเฟดในการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน พ.ย.นี้
นอกจากนี้นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จะประชุมนโยบายการเงินในเดือน พ.ย. โดยสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ย. และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.ย. ในวันที่ 11 และ 12 ต.ค.ในลำดับ
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 58.7 ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือน ส.ค.ที่ 56.9 ทั้งนี้ ดัชนีปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพ ตลอดจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ
การเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่าง ๆ แต่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 53.2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 55.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 67.4 ซึ่งดัชนีทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า จากฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติซึ่งยังมีความผันผวน
นอกจากนี้ควรระวังและจับตาทิศทางราคาน้ำมันดิบและราคาทองคำ หลังความเสี่ยงจากสงครามล่าสุดอาจหนุนให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทอ่อนค่า แต่ในขณะเดียวกัน ราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้นได้และจะเป็นปัจจัยช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.98-37.12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.07/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/10) ที่ระดับ 1.0572/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/10) ที่ระดับ 1.0558/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวขึ้น 1.25%-1.5% ในปี 2567 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้ถึงสองเท่า
โดยโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวขึ้นเพียง 0.5% ในปีนี้ นอกจากนี้ ตัวเลขคาดการณ์ของโกลด์แมน แซคส์ ยังสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เศรษบกิจยูโรโซนปี 2567 ของธนาคารเอชเอสบีซีถึงสองเท่าตัว โดยเอชเอสบีซีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวที่ระดับ 0.5% ในปีหน้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0518-1.0574 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0537/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/10) ที่ระดับ 149.11/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/10) ที่ระดับ 149.02/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับเยนในวันศุกร์ที่ผ่านมา (6/10) หลังนายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงเพื่อซื้อเงินเยน และผลักดันค่าเงินเยนให้ต่ำกว่า 150 เยน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้วหรือไม่
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.97-149.24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.13/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือน ก.ย.จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) (10/10), สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน ส.ค.ของสหรัฐ (10/10), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ย.ของสหรัฐ (11/10), รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) วันที่ 19-20 ก.ย. (12/10),
จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (12/10), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.ย.ของสหรัฐ (12/10), สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (12/10) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ต.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (13/10)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.50/-10.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.50/-8.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ