ค่าเงินบาทอ่อนดันต้นทุนพุ่ง ชะลอนำเข้าวัตถุดิบ-ลดสต๊อกเหลือ 1 เดือน

บาทอ่อน

บาทอ่อนรอบ 11 เดือน ส่งผลเงินไหลออกต่างประเทศ ผู้นำเข้าอ่วม รับต้นทุนนำเข้าทั้ง “น้ำมัน-อาหารสัตว์” พุ่งสูงขึ้น แต่โชคยังดีที่รัฐบาลมีมาตรการดูแลค่าน้ำมัน-ไฟฟ้า ยังกดเงินเฟ้ออยู่ ด้านผู้ส่งออกสินค้าเกษตร-อาหารรับส้มหล่น แต่ภาพรวมของการส่งออกไทยยังคงติดลบ 1.5-1%

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะที่ระดับ 37 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ นับเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 11 เดือน โดยเป็นผลจากความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่อยู่ในระดับสูง 5.50% กับดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงอยู่ที่ 2.50% หรือคิดเป็นช่องว่างของดอกเบี้ย 2.50% ทำให้กระแสเงินไหลออกจากไทยไปสู่ประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งด้วยประเด็นนี้ส่งผลเชื่อมโยงต่อภาคการส่งออกไทย

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามาอยู่ที่ 36-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นไปตามกลไกของตลาดเงิน แต่ทั้งนี้ ค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่ายัง “น้อยกว่า” ภูมิภาค 2% ดังนั้นยังเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ คิดเป็นสัดส่วน 20% ของการส่งออกภาพรวมทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าอีกด้านหนึ่ง ค่าเงินบาทอ่อนค่ามีผลต่อการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะ “น้ำมัน” จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ก็ยังมีมาตรการของรัฐบาล ลดราคาน้ำมัน-ค่าไฟฟ้าที่ยังช่วยได้

ส่วนการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตในการส่งออก มองว่า “ไม่มีปัญหา” เพราะสามารถนำเข้ามาผลิตและส่งออกกลับไปจำหน่าย หักล้างกันไปได้ ส่วนกลุ่มที่จะกระทบคงเป็นวัตถุดิบนำเข้าผลิตเพื่อขายในประเทศ

“ขอให้ผู้ส่งออกประกันความเสี่ยงของค่าเงินบาทไว้ เพื่อป้องกันการผันผวนของค่าเงินบาท เพราะปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทขึ้นไปที่ 38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และแข็งค่าทันทีที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยต้องติดตามในช่วงปลายปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร ขณะที่ปัญหาค่าระวางเรือไม่มีปัญหา ค่าระวางเรือยังคงที่ ตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่งยังเพียงพอและไม่ได้มีผลต่อค่าเงินบาทไทยที่อ่อนค่า ส่วนภาพรวมการส่งออก สรท.ยังมองการส่งออกของไทยทั้งปี 2566 ติดลบ 1.5-1%”

ด้าน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า “ค่าเงินบาทอ่อนค่ามีผลกระทบต่อเงินเฟ้อน้อยมาก” แม้ว่าสมมุติฐานเงินเฟ้อปี 2566 จะคำนวณบนพื้นฐานอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่ 34.50-35.50 บาทก็ตาม เนื่องจากไทยมีมาตรการของภาครัฐ โดยเฉพาะการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน

ดังนั้นค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการนำเข้าน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น แต่ด้วยมาตรการของรัฐบาลที่ออกมา จึงไม่ได้มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อของไทย

ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยทั้งปี 2566 จากเดิมอยู่ที่ระหว่าง 1.0-2.0% ค่ากลาง 1.5% เป็นระหว่าง 1.0-1.7% ค่ากลาง 1.35 ภายใต้สมมุติฐาน จีดีพีของไทย ขยายตัว 2.5-3.0% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 75-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเงินบาท 34.50-35.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นายอรรถพล ชินภูวดล ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า จากปัญหาค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงนี้อาจจะมีผลต่อการชะลอนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์บ้าง โดยผู้นำเข้าอาจพิจารณานำเข้าตามปริมาณสต๊อกเดิมที่แต่ละรายมีเหลืออยู่ โดยปกติจะมีการนำเข้ามาสต๊อกล่วงหน้า 3 เดือน ซึ่งหากในช่วงราคาสูงก็จะนำเข้ามาสต๊อกไว้เพียง 1 เดือน และค่อยพิจารณานำเข้า หรือซื้อวัตถุดิบในประเทศ เช่น มันสำปะหลัง ปลายข้าว เป็นการทดแทน แต่ยืนยันว่าวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ และปริมาณอาหารสัตว์ยังเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน

จากการติดตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่าง “ข้าวสาลี” มีการปรับขึ้นราคามาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว จากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งยูเครนเป็นผู้ส่งออกหลัก แนวโน้มผลผลิตในตลาด และมาประกอบเรื่องของค่าเงินเพิ่มเติม ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น ตอนนี้อยู่ที่ 11-12 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 10-11 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้การนำเข้าชะลอลง และคาดว่าจะลดลงในช่วงปลายปี 2566 ทั้งปีน่าจะนำเข้าเพียง 1.5 ล้านตัน

แม้การนำเข้าข้าวสาลีจะลดลง แต่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศกำลังออกสู่ตลาด จึงสามารถทดแทนได้ อีกทั้งราคาก็ถูก อยู่ที่ 10-11 บาทต่อกิโลกรัม และแนวโน้มก็น่าจะลดลง ส่วนราคาถั่วเหลืองขณะนี้ราคาลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ยทั้งปี 21 บาทต่อกิโลกรัม จากปีที่แล้วเฉลี่ย 22 บาทต่อกิโลกรัม